ที่มา: วารสารโคนม ปีที่ 19 ฉบับที่ 2

ผู้เขียน: รศ.ดร.จีระชัย กาญจนพฤฒิพงศ์ 

ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตที่มีอากาศร้อนชื้น ซึ่งมีผลทำให้แม่โคนมแสดงอาการเป็นสัดประมาณ 13 ถึง 40 ชั่วโมง (ประเสริฐ เจิมพร, 2529) การแสดงอาการเป็นสัดของโคเป็นอิทธิพลของฮอร์โมนเอสโตรเจน โคแต่ละตัวมีระยะเวลาในการแสดงการเป็นสัดแตกต่างกัน หากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้เวลาในการจับสัดอย่างไม่เพียงพอ ก็จะไม่ทราบเลยว่าแม่โคเริ่มต้นแสดงการเป็นสัดเมื่อใด ซึ่งมีผลทำให้ระยะเวลาผสมเทียมคลาดเคลื่อนและมีผลต่ออัตราการผสมติด การผสมเทียมในแม่โคที่เป็นสัดในชั่วโมงที่ 18 มีผลให้อัตราการผสมติดดีที่สุด หากทำการผสมในช่วงต้นของการเป็นสัด หรือหมดระยะการเป็นสัดไปแล้ว 6 ชั่วโมง มีผลให้อัตราการผสมติดจะต่ำลง Perry (1969) แนะนำว่าการผสมเทียมในแม่โคในช่วง 6 ถึง 24 ชั่วโมง ก่อนการตกไข่จะเป็นระยะที่ทำให้อัตราการผสมติดดีที่สุด ประเสริฐ เจิมพร (2529) แนะนำให้ผสมเทียมในช่วง 2 ถึง 3 ชั่วโมงสุดท้ายของการเป็นสัดถึงระยะหมดสัดไปแล้วไม่เกินกว่า 6 ชั่วโมง จะเป็นระยะที่ทำให้อัตราการผสมติดสูงสุด ในขณะเดียวกันการผสมเทียมโคในประเทศไทยนิยมใช้กฎ เช้า-เย็น หลักการคือ เมื่อพบโคเป็นสัดในช่วงเช้า ให้ผสมเทียมในช่วงบ่าย-เย็นในวันเดียวกัน

การผสมเทียมโคให้ได้จังหวะเวลาที่เหมาะสมเป็นเรื่องทีมีความสำคัญมากที่มีผลต่ออัตราการผสมติด จากการศึกษาเรื่องนี้มาเป็นเวลานาน พอสรุปได้ว่าเวลาที่เหมาะสมในการผสมเทียมคือ ประมาณ 12 ถึง 18 ชั่วโมง หลังแสดงอาการเป็นสัด ปัญหาที่พบคือเจ้าหน้าที่ผสมเทียมไม่ทราบเวลาเริ่มต้นของการเป็นสัด หากเกษตรกรผู้เลี้ยงไม่ได้เอาใจใส่ดูแลการจับสัดผู้เลี้ยงก็ไม่ทราบเวลาเริ่มต้นของการเป็นสัด นอกจากนั้นโคแต่ละตัวแต่ละพันธุ์ก็มีความแตกต่างกันเรื่องระยะเวลาการเป็นสัด เวลาตกไข่ ตลอดจนโคที่เลี้ยงในเขตหนาวจะมีระยะเวลาการเป็นสัดปกติคือประมาณ 18 ชั่วโมง และโคพันธุ์เดียวกันที่เลี้ยงในเขตร้อนประมาณ 16 ชั่วโมง เป็นต้น

จากที่กล่าวมาเบื้องต้นจะเห็นได้ว่า เวลาที่เริ่มต้นการเป็นสัดจะเป็นข้อมูลกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการผสมเทียม แต่ปัญหาที่พบคือเจ้าหน้าที่ไม่ทราบเวลาเริ่มต้นการเป็นสัดอย่างชัดเจน ดังนั้นปัญหาการผสมไม่ติดจึงถูกผูกยึดกับระยะเวลาที่ไม่เหมาะสม ผู้เขียนจะขอนำเสนอวิธีการใช้แรงบีบรัดตัวของปีกมดลูกเป็นข้อกำหนดเวลาที่เหมาะสมในการผสมเทียม ที่เจ้าหน้าที่ผสมเทียมสามารถปฏิบัติได้ง่ายได้ผลดีกว่าวิธีที่ใช้กันอยู่ ณ ปัจจุบัน ซึ่งมีรายละเอียดที่จะกล่าวถึงดังต่อไปนี้

 

การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในระบบสืบพันธุ์ของโคในระยะการแสดงอาการเป็นสัด

การบีบรัดตัวของกล้ามเนื้อปีกมดลูกและส่วนต่างๆ ของมดลูกเกิดจากอิทธิพลของฮอร์โมนเอสโตรเจน การเริ่มต้นแสดงอาการเป็นสัดจะเป็นระยะที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมีผลทำให้กล้ามเนื้อปีกมดลูกและส่วนต่างๆ ของมดลูกเริ่มบีบรัดตัว ในระยะที่โคยืนนิ่งให้โคตัวอื่นๆ ปีนทับเป็นระยะเวลาที่กล้ามเนื้อปีกมดลูก คอมดลูก และมดลูกมีอาการแข็งเกร็งตัวและบีบรัดตัวมากที่สุด เนื่องจากเป็นระยะที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนมากที่สุด เมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง การเกร็งตัวและบีบรัดตัวของกล้ามเนื้อปีกมดลูก คอมดลูก และมดลูกก็จะลดลงเรื่อยๆ โดยสังเกตเห็นโคเริ่มแสดงอาการไม่ยอมให้ตัวอื่นๆ ปีนทับ เมื่อไข่ตกบริเวณที่ฐานของรังไข่จะเกิดรอยขอบนูนขึ้นมาจะเป็นตำแหน่งที่เกิดคอร์ปัสลูเตียมที่ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ซึ่งส่งผลให้กล้ามเนื้อปีกมดลูก คอมดลูก และมดลูกอ่อนตัวตลอดระยะเวลาที่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนอยู่

ในระยะที่โคเป็นสัดจะมีเลือดและฮอร์โมนมากระตุ้นและหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อของระบบสืบพันธุ์มากกว่าช่วงเวลาปกติ ลักษณะของระบบสืบพันธุ์ระยะนี้จะมีลักษณะบวมพอง แข็งตัว และเรียบลื่น กล้ามเนื้อของปีกมดลูก คอมดลูก และมดลูกจะเกร็งบีบรัดตัว ปีกมดลูกจะมีลักษณะโค้งงอ แบ่งแยกปีกซ้ายขวาได้ชัดเจน รังไข่ข้างที่มีฟองไข่กำลังพัฒนาจะอ่อนนุ่ม มีตุ่มไข่อ่อน อาการเหล่านี้สามารถตรวจได้โดยการล้วงคลำทางทวารหนัก ดังนั้นเจ้าหน้าที่ผสมเทียมสามารถใช้อาการบีบรัดตัวของกล้ามเนื้อปีกมดลูกเป็นข้อบ่งชี้ระยะเวลาที่เหมาะสมในการผสมเทียม ซึ่งจะมีความถูกต้องแม่นยำโดยไม่จำเป็นที่ต้องรู้ระยะเวลาเริ่มต้นของการเป็นสัด 

 

การพิจารณาให้คะแนนแรงบีบรัดของปีกมดลูก

การให้คะแนนแรงบีบรัดตัวของปีกมดลูก จะพิจารณาแรงบีบรัดตัวของกล้ามเนื้อปีกมดลูกเป็นหลัก และพิจารณาแรงบีบรัดตัวของกล้ามเนื้อคอมดลูกและมดลูกเป็นส่วนประกอบ โดยมีรายละเอียดดังแสดงในตารางที่ 1

 

เทคนิควิธีการฝึกตรวจคลำแรงบีบรัดตัวของอวัยวะสืบพันธุ์โคเพศเมียเพื่อให้คะแนนและกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมในการผสมเทียม

  • แต่งกายให้เหมาะสม เช่น สวมรองเท้าบู๊ท ผ้ากันเปื้อน ถุงมือ ตัดเล็บมือให้สั้นลบคมทุกเล็บ เพื่อให้ลดการบาดเจ็บของทวารหนักแม่โค
  • เมื่อพบว่ามีโคแสดงอาการเป็นสัด ในกรณีที่โคดุร้ายและเตะก็ต้อนเข้าซองบังคับ แต่ถ้าเป็นโคเชื่องก็ใช้เพียงเชือกคล้องคอผูกติดราวคอกก็ได้หรือใช้เซลฟ์ล็อคคอก็สะดวกดี
  • ตรวจสอบประวัติว่าเป็นโคสาว โครีดนม โคดรายเป็นสัดครั้งที่ เคยผสมมากี่ครั้ง มีวงรอบสัดการเป็นสัดกี่วัน รอบสัดเป็นปกติหรือไม่ ระยะแสดงอาการสัดที่เคยบันทึกไว้กี่วัน
  • ตรวจสุขภาพความสมบูรณ์ของร่างกายทั่วไป โคที่มีสุขภาพไม่ดี มีโอกาสในการผสมติดต่ำกว่าโคที่มีสุขภาพดี
  • ล้วงตรวจระบบสืบพันธุ์เพื่อตรวจสภาพของระบบสืบพันธุ์ว่าเป็นสัดจริงหรือไม่ มีความผิดปกติหรือไม่ เช่น มดลูกอักเสบ คอมดลูกอักเสบ ท้องหรือไม่ เจ้าหน้าที่ผสมเทียมควรเดินเข้าไปใกล้แม่โคทักทายด้วยเสียง และใช้มือเคาะบั้นท้ายให้แม่โคได้รู้ตัวหันมามอง จะได้ไม่ตื่นตกใจ จากนั้นคลำกระตุ้นที่อวัยวะเพศ แล้วใช้มูลโคสดๆ เป็นสารหล่อลื่นทาที่นิ้วมือ จะทำให้สอดมือล้วงได้ง่ายขึ้น ใช้นิ้วชี้สอดเข้าช่องทวารหนักชักเข้า-ชักออก 2 ถึง 3 ครั้ง จากนั้นใช้นิ้วมือทั้งหมดสอดเข้าทวารหนักทันทีล้วงเอามูลโคออกจากช่องทวารให้หมด จะช่วยให้การตรวจคลำได้สะดวกขึ้น
  • ตรวจคลำอวัยวะสืบพันธุ์ โดยสอดมือเข้าช่องทวารหนักอีกครั้งเมื่อผ่านพ้นข้อมือให้คว่ำมือลง แบนิ้วกดลงให้ติดกระดูกเชิงกราน จะพบอวัยวะสืบพันธุ์เป็นเส้นวางพาดยาวตามแนวลำตัว ส่วนที่แข็งที่สุดจะเป็นคอมดลูก ถัดไปจะเป็นตัวมดลูก ต่อจากตัวมดลูกจะเป็นปีกมดลูกและปลายมดลูกจะเป็นรังไข่ ตรวจดูความอ่อน-แข็งเปรียบเทียบกับตารางที่ 1 พร้อมกับดูลักษณะอื่นๆ ประกอบด้วย ถ้ายังไม่ได้ระยะเวลาที่เหมาะสมก็ปล่อยโคไปก่อน และให้ฝึกล้วงทุกๆ 3 ถึง 4 ชั่วโมง ช่วงเวลาเหมาะสมในการผสมเทียมที่ทำให้อัตราการผสมติดดีที่สุดก็คือ เมื่อแรงบีบรัดตัวของปีกมดลูกอยู่ที่คะแนน 12.5 ถึง -1.5 ในกรณีที่มีโคบางตัวมีระยะเวลาแสดงอาการสัดนานกว่าปกติควรลดระดับความอ่อนแข็งระบบสืบพันธุ์ลงมาอยู่ที่ -1

 

ข้อสังเกตบางประการในการล้วงคลำให้คะแนนแรงบีบรัดตัวของปีกมดลูก

  • ให้ระวังข้อผิดพลาดที่เกิดจากการเบ่งต้านขณะล้วงคลำ ทำให้ระดับความอ่อนแข็งของปีกมดลูกแข็งกว่าระดับที่เป็นอยู่
  • ระดับความอ่อนแข็งของปีกมดลูกของโคสาว จะมีแรงบีบรัดตัวที่อ่อนกว่าเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบแม่โคที่เคยคลอดลูกมาแล้ว
  • ช่วงที่มีอากาศร้อนจัด ระดับความอ่อนแข็งของปีกมดลูกของโคมักจะอ่อนกว่าระดับที่เป็นอยู่

 

ตารางที่ 1 การให้คะแนนแรงบีบรัดตัวของกล้ามเนื้อปีกมดลูกและส่วนประกอบต่างๆ ในระยะการแสดงอาการเป็นสัด

คะแนน

ปีกมดลูก

มดลูก

คอมดลูก

ลักษณะที่สังเกตเห็น

0

อ่อนมาก นุ่ม ไม่ตอบสนองขณะล้วงคลำ

อ่อนเหลว นิ่ม ไม่ตอบสนองต่อการล้วงคลำ

อ่อนมาก

ช่องคลอดแห้ง สีซีดลง ไม่มีเมือก กินอาหารปกติ ไม่สนใจตัวอื่นๆ

+1

เริ่มบีบรัดตัวโดยเริ่มเกร็งตัวและแข็งตัวขึ้นเล็กน้อยตอบสนองการกระตุ้นขณะล้วงคลำ

แข็งตัวขึ้นเล็กน้อยเริ่มตอบสนองต่อการกระตุ้นล้วงคลำ

แข็งตัวขึ้นเล็กน้อย

ช่องคลอดชุ่มขึ้น สีสดใสขึ้น หูตั้ง กระวนกระวาย ส่งเสียงร้อง กินอาหารลดลง พบเมือกไหลออกมาขณะนอน

+2

บีบรัดพองแข็งตัว มีอาการเกร็งตัว มีอาการเกร็งตัวและเริ่มโค้งงอเป็นลำ แยกซ้าย-ขวา ออกจากกัน เมื่อล้วงคลำและลูบปีกมดลูกจะพองแข็งตัวมากขึ้นและยุบลงอย่างช้าๆ

พองแข็งตัวมากขึ้น ตอบสนองต่อการกระตุ้นคลำเร็ว

พองตัวขึ้นและค่อนข้างแข็ง

ช่องคลอดบวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เยื่อเมือกสีแดงเรื่อๆ หูตั้ง กระวนกระวายมากขึ้น ร้องบ่อยๆ กินอาหารลดลง มีเมือกมากไม่เหนียว ชอบดม เลีย ไล่ปีนตัวอื่นๆ

+3

บีบรัดพองแข็งตัวมาก มีอาการเกร็งและโค้งงอตัวได้ แยกปีกซ้าย-ขวา ได้อย่างชัดเจน

พองแข็งตัวมากที่สุด ผิวเรียบ เกร็งสู้มือและตอบสนองการกระตุ้นดีมาก

พองแข็งตัวเป็นลำจับได้ง่ายสอดหลอดผสมเทียมได้ง่ายมาก

ช่องคลอดบวมเห็นชัดเจน เยื่อมีสีแดงเข้มเป็นมันเยิ้ม หูตั้ง กินอาหารลดลง น้ำนมลด เมือกมาเปราะก้นโคนหางใสยาว ยืนนิ่งให้ตัวอื่นปีนทับร้องบ่อยๆ

-2

บีบรัดพองตัวและการโค้งงอเริ่มคลายตัวลงเล็กน้อยเมื่อล้วงคลำและลูบปีกมดลูกจะพองแข็งตัวขึ้นและยุบคลายตัวอย่างรวดเร็ว

อ่อนตัวลงเล็กน้อย ผิวยังเรียบ การโค้งงอคลายตัวลงเล็กน้อย ตอบสนองต่อการกระตุ้นขึ้นช้า ลงเร็ว

พองตัว ลดความแข็งลงเล็กน้อย สอดหลอดผสมเทียมได้ไม่สะดวก

ช่องคลอดบวมลดลงเล็กน้อย สีซีดลง เมือลดลง ข้นเหนียวเป็นฟอง ไม่ยอมให้ตัวอื่นปีน ไม่ส่งเสียงร้อง หูตก

-1

อาการบีบรัดตัวอ่อนลงมาก เหลวไม่พองตัว เมื่อล้วงคลำและลูบปีกมดลูก จะไม่ปรากฏอาการพองตัว

คลายตัวลงมาก เหลว ไม่ตอบสนองต่อการกระตุ้น

อ่อนตัว สอดหลอดผสมเทียมได้ยาก

ช่องคลอดซีดมาก มีคราบเมือกแห้งติดก้นโคนหาง ช่องคลอดหดเล็กลง คลายความกระวนกระวาย ไม่สนใจตัวอื่นๆ กินอาหารได้มากขึ้น ให้น้ำนมเป็นปกติ