ที่มา: วารสารโคนม ปีที่ 17 ฉบับที่ 5

ผู้เขียน: อลงกลด แทนออมทอง

การชักนำให้เกิดการแท้งในโคนม

เห็นหัวเรื่องของบทความแล้วอาจจะดูแปลกไปสักหน่อยว่า ทำไมเราจึงต้องทำแท้งโคนม ทั้งที่จริงๆ แล้ว เกษตรกรต้องการที่จะได้ลูกโคนม โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกโคนมที่เป็นเพศเมีย มีสาเหตุหลายประการที่เราอาจจำเป็นจะต้องทำแท้งแม่โคนมที่ตั้งท้องดังสาเหตุต่อไปนี้

1. แม่โคนมของเราที่ปล่อยไปเลี้ยงในแปลงหญ้า แล้วไปถูกผสมพันธุ์ โดยเจ้าหนุ่มโคพื้นเมืองข้างบ้าน ซึ่งเป็นการผสมโดยพ่อโคที่เราไม่ต้องการ หรือเป็นการผสมผิดคู่

2. โคสาวที่ตั้งท้องเมื่ออายุยังน้อย และไม่ค่อยได้รับการเอาใจใส่เลี้ยงดูจากเจ้าของทำให้โคสาวนั้นยังไม่พร้อมที่จะมีลูกได้

3. แม่โคนมที่ตั้งท้องนั้นมีความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ เช่น มดลูกบวม ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการตั้งท้อง หรืออาจจะทำให้เกิดการคลอดยาก

4. แม่โคนมที่ตั้งท้องมีความผิดปกติขึ้น เช่น การมีน้ำคร่ำที่มากผิดปกติ ลูกสัตว์ที่อยู่ในท้องแม่โคนมได้ตายแล้วอาจอยู่ในสภาพที่เน่าเปื่อยหรือสภาพที่แห่งไม่เน่า

5. เพื่อรักษาชีวิตของแม่โคนมเอาไว้ หรือเป็นการรักษาความสามารถในการผลิตลูกของแม่โคนมเอาไว้

 

สภาพของการตั้งท้อง

ในขณะที่มีการตั้งท้องเกิดขึ้น จะมีการรักษาสภาพของการตั้งท้องให้คงอยู่ตลอดไป จนถึงมีการคลอดลูกออกมา สภาวะของการตั้งท้องที่คงอยู่ได้นี้ มีปัจจัยสำคัญที่ทำให้คงอยู่ได้ก็คือ การมีฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า โปรเจสเตอโรน (Progesterone) อย่างเพียงพอ ตลอดการตั้งท้อง ดังนั้น หลักการของการทำแท้งในแม่โคนมอย่างง่ายๆ ก็คือการทำให้ไม่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอร์โรนเกิดขึ้นในกรณีที่จะกล่าวต่อไปนี้ จะยกเว้นการทำแท้งด้วยวิธีการผ่าตัดเอาลูกออกเท่านั้น

ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนนี้ส่วนมากแล้วมีการผลิตมาจาก 3 ส่วน คือ ส่วนที่เราเรียกว่า คอร์ปัสลูเตียม (Corpus Luteum: ขออธิบายง่ายๆ ว่า อยู่บนรังไข่ เกิดมาจากรอยแผลจากการตกไข่ที่ก่อรูปขึ้นมา) มาจากรก (Placenta) และอีกเล็กน้อย สร้างมาจากต่อมหมวกไต (Adrenal Gland ต่อมที่มีอยู่บนไต)

ส่วนของคอร์ปัสลูเตียมนี้ จะสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและจะมีความสำคัญเป็นอย่างมากที่จะรักษาสภาพของการตั้งท้องในช่วง 5 เดือนแรกของการตั้งท้อง และเดือนสุดท้ายของการตั้งท้อง ในช่วงประมาณวันที่ 150 ถึง 250 ของการตั้งท้องส่วนของคอร์ปัสลูเตียมนี้ก็จะฝ่อสลายไปในช่วงต่อไปนี้ส่วนของรกก็จะตั้งท้องให้คงอยู่เอาไว้และฮอร์โมนนี้จะลดระดับลงในช่วงเดือนสุดท้ายของการตั้งท้องซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

 

ระยะของการตั้งท้อง

แหล่งสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน

2 ถึง 5 เดือน

5 ถึง 8 เดือน

8 ถึง 9 เดือน

คอร์ปัสลูเตียม

รก

คอร์ปัสลูเตียม

 

ในช่วงเดือนสุดท้ายของการตั้งท้องนี้ ปริมาณฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะลดลง และลูกสัตว์ในท้องสามารถที่จะสร้างฮอร์โมนนี้ได้จากต่อมหมวกไตเพิ่มขึ้น โดยหลักการของการทำแท้งส่วนใหญ่แล้ว จะทำให้มีการฝ่อสลายของคอร์ปัสลูเตียมในช่วงของการตั้งท้อง ซึ่งจะทำให้ไม่มีการสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนออกมา เกิดสภาพการสูญเสียการตั้งท้องไป ส่งผลทำให้มีการแท้งเกิดขึ้นตามมา วิธีการทำให้คอร์ปัสลูเตียมฝ่อสลายก็โดยการใช้ฮอร์โมนต่อไปนี้

1. ฮอร์โมนโปรสตาแกลนดิน (Prostaglandin; PGF) เป็นฮอร์โมนที่มีคุณสมบัติออกฤทธิ์ที่รังไข่ ทำให้เกิดการฝ่อตัวของคอร์ปัสลูเตียม นอกจากนี้ฮอร์โมนโปรสตาแกลนดินยังมีผลต่อการบีบตัวของมดลูกอีกด้วย แต่ถ้าให้ฮอร์โมนนี้ในช่วงสุดท้ายของการตั้งท้องจะส่งผลให้มีการเหนี่ยวนำการคลอดเกิดขึ้น การใช้ฮอร์โมนนี้ในการทำแท้งบางครั้ง พบว่า เกิดการฝ่อสลายคอร์ปัสลูเตียมที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้สามารถผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนอย่างเพียงพอส่งผลให้การตั้งผลให้การตั้งท้องดำเนินไปอย่างปกติ

2. ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ฮอร์โมนเอสโตรเจนสามารถที่จะเหนี่ยวนำ ทำให้เกิดการแท้งเกิดขึ้นได้ โดยจะมีผลทำให้คอร์ปัสลูเตียมฝ่อสลาย แต่กลไกยังไม่ทราบแน่ชัดมากนัก

3. ฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid) ฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอยด์นี้จะมีผลทำให้การสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจากรกลดลงในช่วงเดือนที่ 5 ของการตั้งท้อง แต่ฮอร์โมนนี้จะไม่มีผลทำให้คอร์ปัสลูเตียมฝ่อสลาย

 

แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้ว เกษตรกรมักทราบว่า โคนมที่ตนเลี้ยงอยู่ตั้งท้อง และต้องการที่จะทำแท้งแม่โคนมในช่วงแรกของการตั้งท้อง ซึ่งผู้เขียนขอแนะนำว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของการตั้งท้องนี้ ฮอร์โมนโปรสตาแกลนดินจะใช้ได้ผลมากที่จะเหนี่ยวนำให้แม่โคนมมีการแท้งเกิดขึ้น