ผู้แต่ง: ผศ.ดร.ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ

ในการพัฒนาศักยภาพการผลิตของโคนมให้ดีขึ้นทางพันธุกรรมหรือการปรับปรุงพันธุ์ เกษตรกรจำเป็นต้อง คัดเลือก โคที่มีความสามารถทางพันธุกรรม สำหรับลักษณะที่ตนเองสนใจ สูงมาใช้เป็นพ่อและแม่พันธุ์สำหรับการผลิตโคนมรุ่นลูกเพื่อใช้ประโยชน์ในระบบการผลิตทดแทนโครุ่นพ่อแม่ ในการดำเนินการดังกล่าวถ้าสามารถคัดเลือกโคนมได้อย่างแม่นยำ กล่าวคือโคตัวที่ถูกคัดเลือกนั้นมีความสามารถทางพันธุกรรมสำหรับลักษณะที่สนใจดีจริง (ไม่ใช่ดีเพียงแต่ลักษณะที่เห็นภายนอก) ผลที่จะได้รับก็คือ โครุ่นลูกที่อยู่ในฟาร์มมีความสามารถทางพันธุกรรม (สำหรับลักษณะที่ใช้ในการคัดเลือก) โดยเฉลี่ยดีขึ้น และเมื่อความสามารถทางพันธุกรรมของโคนมที่เลี้ยงดีขึ้น ความสามารถในการให้ผลผลิตตอบสนองต่อปัจจัยการผลิตที่จัดทำให้ (หรือต้นทุนการผลิต)ก็จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นในการพัฒนาศักยภาพการผลิตของโคนมในปัจจุบันของเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังคงมีความสัมพันธ์กับ ความแม่นยำของการคัดเลือก ซึ่งวัดได้จากการพิจารณาความสามารถในการแสดงออกซึ่งลักษณะที่สนใจใน โครุ่นลูก เปรียบเทียบกับโคพ่อและแม่พันธุ์ถ้าหากลูกโคที่ได้โดยเฉลี่ยมีศักยภาพในการแสดงออกซึ่งลักษณะที่เราสนใจดีกว่าโครุ่นพ่อแม่แสดงว่าการคัดเลือกพ่อและแม่พันธุ์นั้นมีความแม่นยำสูงแต่ไม่เป็นเช่นนั้นโคพ่อและแม่พันธุ์ที่คัดเลือกไว้ให้ลูกโคทดแทนออกมาโดยเฉลี่ยมีความสามารถในการแสดงออกซึ่งลักษณะที่สนใจไม่ดีนักหรือดูแล้วด้อยกว่าพ่อและแม่เช่นนี้อาจกล่าวได้ว่าการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ดังกล่าวมีความแม่นยำต่ำ การพิจารณาคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์โคนมจาก ความสามารถทางพันธุกรรม หรือ คุณค่าการผสมพันธุ์ที่ประมาณค่าได้ (EBV; Estimated Breeding Value) จากข้อมูลของลูกที่เกิดและให้ผลผลิตหรือแสดงลักษณะที่สนใจออกมาภายใต้สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์โคนม เพื่อใช้ในการพัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรมสำหรับลักษณะที่ตนสนใจได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากค่า EBV เป็นค่าที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถทางพันธุกรรมที่โคตัวนั้นๆ มีอยู่และสามารถ ถ่ายทอด ไปให้ลูกของมันได้ ดังนั้นการทำความเข้าใจถึงคุณลักษณะและการใช้ประโยชน์จากค่า EBVนอกจากจะช่วยให้เกษตรกรสามารถคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์โคนมเพื่อใช้ในการพัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรมสำหรับลักษณะที่ตนสนใจได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วยังช่วยลดความเสี่ยงในการตัดสินใจเลือกใช้พ่อแม่พันธุ์โคนมที่ผิดพลาดด้วยเช่นกันความสามารถทางพันธุกรรม หรือ คุณค่าการผสมพันธุ์ (EBV) สำหรับลักษณะที่สนใจของสัตว์แต่ละตัวในประชากร มีลักษณะและคุณสมบัติดังนี้

  • คุณค่าการผสมพันธุ์ (EBV) สำหรับลักษณะใดๆ ของสัตว์แต่ละตัวที่ถูกพิจารณาในประชากร มีลักษณะเป็น ความสามารถทางพันธุกรรม ที่ถูก ทำนาย ขึ้นจากข้อมูล ความสามารถที่แสดงออกให้เห็นภายนอก ของ โคนมตัวที่ถูกพิจารณา และ เครือญาติทั้งหมดของพวกมัน ในประชากร
  • คุณค่าการผสมพันธุ์ (EBV) ถูกรายงาน เป็น ค่าบวก (+)และ ค่าลบ (–) ซึ่งมีหน่วยเดียวกันกับลักษณะที่พิจารณา ค่าดังกล่าวมีลักษณะเบี่ยงเบน (deviate) ไปจากค่าเฉลี่ย ของความสามารถในการแสดงออกซึ่งลักษณะนั้นๆ โดยรวมของโคนมทุกตัวที่ถูกพิจารณา เช่น ในประชากร (ฝูง) โคแห่งหนึ่ง พ่อพันธุ์ชื่อ แฟรงค์ มีคุณค่าการผสมพันธุ์ ปริมาณน้ำนมที่ 305 วัน เท่ากับ +550 กิโลกรัม หมายความว่า พ่อพันธุ์ชื่อ แฟรงค์ มีความสามารถทางพันธุกรรม สูงกว่า ค่าเฉลี่ยของประชากรที่ แฟรงค์ เป็นสมาชิกอยู่ ประมาณ 550 กิโลกรัม เป็นต้น
  • คุณค่าการผสมพันธุ์ มักถูกรายงานออกมาพร้อมๆ กับค่าที่สื่อให้เห็นถึง ความแม่นยำ (Accuracy) หรือ ความน่าเชื่อถือ (Reliability) ของคุณค่าการผสมพันธุ์เอง ซึ่งค่าดังกล่าวแสดงเป็นค่าที่แสดงให้เห็นถึง ระดับความผันแปรของพันธุกรรมที่จะแสดงออก เมื่อนำสัตว์ตัวนั้นไปใช้เป็นพ่อหรือแม่พันธุ์ กล่าวคือ ถ้าหากความแม่นยำหรือความน่าเชื่อถือมีค่าสูง ความผันแปรทางพันธุกรรมที่จะแสดงออก เมื่อนำสัตว์ตัวนั้นไปใช้เป็นพ่อหรือแม่พันธุ์ก็จะมีค่าต่ำ ในทางกลับกัน หากความแม่นยำหรือความน่าเชื่อถือมีค่าต่ำ ความผันแปรทางพันธุกรรมที่จะแสดงออก เมื่อนำสัตว์ตัวนั้นไปใช้เป็นพ่อหรือแม่พันธุ์ก็จะมีค่าสูง
  • คุณค่าการผสมพันธุ์ มักถูกนำมาใช้ประโยชน์ใน การเปรียบเทียบ (comparison) หรือ จัดลำดับ (Ranking) ความสามารถทางพันธุกรรม ระหว่างสัตว์พ่อแม่พันธุ์แต่ละตัวที่ปรากฏในประชากร ด้วย เหตุนี้ เราจึงทราบ สถานภาพความดีหรือด้อยของสัตว์แต่ละในประชากรการพิจารณาคัดเลือกสัตว์แต่ละตัวในประชากรจากความดีเด่นของพวกมันจึงสามารถทำได้ง่ายและชัดเจน
  • คุณค่าการผสมพันธุ์ สำหรับลักษณะใดๆ สามารถผันแปรไปตาม 1) ลักษณะและโครงสร้างของประชากร 2) ความสามารถในการแสดงออกของสัตว์แต่ละตัว (ทุกตัว) ที่เป็นเครือญาติ และ 3) แบบหุ่นจำลองทางพันธุกรรมที่ใช้ในการประเมิน ดังนั้นคุณค่าการผสมพันธุ์ สำหรับลักษณะใดๆ ของสัตว์แต่ละตัว ในแต่ละประชากรจึงความจำเพาะ ด้วยเหตุนี้ การนำคุณค่าการผสมพันธุ์ของสัตว์แต่ละตัวที่อยู่ต่างประชากร (ต่างชุดข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์) กันจึงไม่สามารถทำได้
  • ในบางครั้ง คุณค่าการผสมพันธุ์ สำหรับลักษณะใดๆ ของสัตว์แต่ละตัวอาจถูกปรับค่าให้อยู่ในรูปแบบมาตรฐาน (standardization; Z-score) เพื่อให้สะดวกในการเปรียบเทียบความดีเด่นของลักษณะต่างๆ ของสัตว์ตัวที่พิจาณา

คุณค่าการผสมพันธุ์ของโคพ่อพันธุ์แต่ละตัวที่มาจากหน่วยงานองค์กรหรือประเทศต่างๆล้วนเป็นค่าที่แสดงถึงความสามารถทางพันธุกรรมของพ่อพันธุ์ที่ถ่ายทอดไปยังสัตว์รุ่นลูกที่ถูกเลี้ยงดูภายใต้สภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นภายในประชากรสัตว์ที่หน่วยงานองค์กรหรือประเทศนำมาพิจารณาดังนั้นค่าเหล่านี้จึงไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบข้ามหน่วยงานองค์กรหรือประเทศได้เว้นเสียแต่ข้อมูลที่หน่วยงานองค์กรหรือประเทศนั้นๆ ถูกนำมารวมกันและพิจารณาร่วมกันนอกจากนี้คุณค่าการผสมพันธุ์ที่ได้จากการวิเคราะห์ในแต่ละครั้งหรือในแต่ละปีนั้นไม่จำเป็นต้องมีค่าเท่าเดิมและมีค่าทั้งที่เป็นบวกและลบแตกต่างกันไปเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของประชากรในขณะนั้นทั้งนี้เพราะขนาดและโครงสร้างของประชาการที่หน่วยงานองค์กรหรือประเทศนำมาพิจารณาในแต่ละปีนั้นไม่เหมือนกันส่วนค่าความเชื่อมั่นและความแม่นยำนั้นแสดงถึงความน่าจะเป็นในการได้มาซึ่งค่าเหล่านั้นอีกเมื่อนำสัตว์ตัวนั้นไปใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์สำหรับผลิตสัตว์รุ่นต่อไปค่าดังกล่าวมีความผันแปรขึ้นอยู่กับจำนวนและความนิ่งของการแสดงออกซึ่งลักษณะที่สนใจในสัตว์ทุกตัวที่เป็นเครือญาติของสัตว์ที่พิจารณา คุณค่าการผสมพันธุ์และความแม่นยำหรือความน่าเชื่อถือในคุณค่าการผสมพันธุ์ล้วนมีประโยชน์อย่างมากต่อการคัดเลือกสัตว์พ่อแม่พันธุ์เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวจัดเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงในการคัดเลือกสัตว์สำหรับใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์และยังให้ผลลัพธ์ได้ดีกว่าการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่พิจารณาแต่เพียงปริมาณการให้ผลผลิตภายนอก

ตัวอย่างการใช้ประโยชน์จากค่าทำนายคุณค่าการผสมพันธุ์

สมมติว่าเราสนใจในพ่อพันธุ์ชื่อฟิก (Fix) หมายเลข 2232 พ่อพันธุ์ตัวนี้มีค่าการผสมพันธุ์สำหรับการให้ผลผลิตน้ำนมที่ 305 วันเท่ากับ +306.81 กิโลกรัม ค่าการผสมพันธุ์นี้แสดงถึงความสามารถทางพันธุกรรมของฟิกในลักษณะน้ำนม 305 วันที่มีค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของฝูง (สำหรับลักษณะการให้ผลผลิตน้ำนมที่ 305 วัน) เท่ากับ 306.81 กิโลกรัม ด้วยสัตว์พ่อแม่พันธุ์จะสามารถถ่ายทอดพันธุกรรมของตนไปสู่ลูกโดยเฉลี่ยเพียงครึ่งหนึ่ง ดังนั้น ลูกที่เกิดขึ้นจากพ่อพันธุ์ชื่อฟิกนั้น โดยเฉลี่ยแล้ว จะมีความสามารถทางพันธุกรรมที่ได้รับจากพ่อพันธุ์ 153.41 กิโลกรัม (306.81 / 2 = 153.41) ซึ่งในความเป็นจริงลูกโคนมที่เกิดขึ้นจากฟิกก็จะมีทั้งที่มีความสามารถทางพันธุกรรมที่ได้รับจากพ่อพันธุ์น้อยกว่าและมากกว่า 153.41 กิโลกรัม ส่วนจะน้อยกว่าหรือมากกว่ามากน้อยเท่าไรนั้นเราสามารถประมาณค่าได้จากค่าความแม่นยำที่คำนวณได้ถ้าหากค่าความแม่นยำของลักษณะนั้นมีค่ามากก็หมายความว่าลูกโคที่เกิดขึ้นจะมีความสามารถทางพันธุกรรมที่ได้รับจากพ่อพันธุ์ใกล้เคียง 153.41 กิโลกรัม ทั้งทางบวกและลบ แต่ถ้าค่าความแม่นยำที่คำนวณได้ที่มีน้อยก็หมายความว่าลูกโคที่เกิดขึ้นจะต่างจาก 153.41 กิโลกรัมมากทั้งทางบวกและลบเช่นกัน ดังนั้น เมื่อเราเรียงลำดับค่าการผสมพันธุ์แล้วเราจึงจำเป็นต้องพิจารณาค่าความแม่นยำประกอบด้วยเพราะถ้าหากพิจารณาเพียงเฉพาะค่าการผสมพันธุ์ที่สูงเพียงอย่างเดียวแต่ความแม่นยำของค่าการผสมพันธุ์นั้นมีค่าต่ำมาก เราก็อาจจะได้ลูกที่มีความสามารถทางพันธุกรรมที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง อย่างไรก็ตาม ถ้าค่าความแม่นยำอยู่ในระดับปานกลางแต่ค่าการผสมพันธุ์นั้นอยู่ในระดับที่เราพึงพอใจเราอาจพิจารณาพันธุ์ประวัติของพ่อพันธุ์ตัวนั้นย้อนกลับไปหรือรอดูผลการวิเคราะห์ค่าการผสมพันธุ์ครั้งต่อไปก่อนการตัดสินใจเลือกเพื่อเพิ่มความมั่นใจก็ได้ นอกจากนี้แล้วเกษตรกรยังอาจจำเป็นต้องพิจารณาราคาน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ประกอบการตัดสินใจด้วยเช่นกัน

ด้วยประเทศไทยเป็นประเทศในเขตร้อนชื้นพืชอาหารสัตว์มีลักษณะแตกต่างจากประเทศในเขตหนาวและอบอุ่นและมาตรฐานรวมทั้งรูปแบบในการจัดการฟาร์มก็ยังมีความแตกต่างจากประเทศต่างๆหลายประเทศ ดังนั้นการพิจารณาเลือกพ่อพันธุ์เพื่อการผสมเทียม นอกจากจะพิจารณาที่ข้อมูลทางพันธุกรรมที่นำเสนอในแคตาล็อกแล้ว การพิจารณาถึงแหล่งที่มาของพ่อพันธุ์เหล่านั้นหรือสิ่งแวดล้อมที่พ่อพันธุ์เหล่านั้นถูกนำไปใช้ประโยชน์ก่อนการพิจารณาประเมินความสามารถทางพันธุกรรรมยังมีส่วนสำคัญในการช่วยลดความเสี่ยงในการตัดสินใจที่ผิดพลาดได้เช่นกัน

ข้อแนะนำในการพิจารณาเลือกใช้น้ำเชื้อพันธุ์เพื่อการปรับปรุงพันธุ์

  • ก่อนการพิจารณาเลือกใช้น้ำเชื้อพันธุ์เพื่อการผสมเทียม เกษตรกรควรพิจารณาลักษณะและความดีเด่นในด้านต่างๆของแม่พันธุ์ที่ตนเองมีหรือที่จะนำน้ำเชื้อพันธุ์ของพ่อพันธุ์ที่กำลังจะคัดเลือกมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดเสียก่อน (ดูว่าปัญหาที่ต้องการแก้โดยพันธุกรรมมีเรื่องใดบ้าง และลำดับความสำคัญของปัญหาต่างๆ เป็นอย่างไร)
  • เกษตรกรควรใช้ประโยชน์จากข้อมูล และประสบการณ์ที่มีทั้งหมดในการคัดเลือกพ่อพันธุ์โคนมแต่ละครั้ง และไม่ควรใช้ความรู้สึกในการตัดสินใจ
  • เกษตรกรควรพยายามพิจารณาคัดเลือกพ่อพันธุ์ที่มีข้อมูลการแสดงออก ซึ่งลักษณะที่สนใจในลูกหรือมีคุณค่าการผสมพันธุ์ สำหรับลักษณะต่างๆ ที่สนใจในประเทศไทยก่อน หากต้องการเลือกใช้น้ำเชื้อพ่อพันธุ์จากประเทศ ให้พิจารณาพ่อพันธุ์จากต่างประเทศที่มีลักษณะสภาพแวดล้อม หรือ สภาพการจัดการฟาร์มใกล้เคียงกับของฟาร์มของตนเองมากที่สุดก่อน และต้องพึงระลึกเสมอว่า น้ำเชื้อพ่อพันธุ์ต่างประเทศที่มีราคาแพง ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะทำให้เกษตรกร ได้ลูกโคนมที่มีความสามารถดีเด่นสมราคา เมื่อนำมาใช้จริงภายในสภาพแวดล้อมของประเทศไทย การได้มาซึ่งลูกที่มีลักษณะดังกล่าวยังขึ้นอยู่กับ พันธุกรรมของแม่พันธุ์ และ สภาพแวดล้อมและการจัดการฟาร์ม รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ซึ่งอาจมีลักษณะแตกต่างไปจากแหล่งที่มาทางพันธุกรรมของพ่อพันธุ์
  • เกษตรกรควรพิจารณาคัดเลือกพ่อพันธุ์โคนมที่ ความสามารถของพ่อพันธุ์แต่ละตัว อย่าพิจารณาเฉพาะ พันธุ์หรือกลุ่มพันธุ์ เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นพ่อที่มาจากพันธุ์เดียวกันหรือมีสายเลือดระดับเดียวกันพ่อพันธุ์เหล่านั้นก็ยังคงมี ความสามารถทางพันธุกรรมที่แตกต่างกัน
  • เกษตรกรควรบันทึกชื่อ พันธุ์ และสายเลือดของพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ รวมถึงวันที่ผสมพันธุ์ทุกครั้งเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาพ่อและแม่พันธุ์นั้นๆอีกในอนาคต และเพื่อเก็บบันทึกเป็นพันธุ์ประวัติให้กับสัตว์รุ่นลูกที่เกิดใหม่
  • เกษตรกรควรพยายามใช้พ่อพันธุ์อย่างน้อย 2 ตัว ในการผสมพันธุ์กับแม่พันธุ์ต่างๆ ในฟาร์มในแต่ละช่วงฤดูกาลในแต่ละปีและไม่ควรเปลี่ยนพ่อพันธุ์ยกชุดในแต่ละฤดูกาลแต่ควรคงใช้ประโยชน์จากพ่อพันธุ์เดิมไว้อย่างน้อย 1 ตัว
  • พ่อพันธุ์แต่ละตัวควรถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการผสมพันธุ์ในฟาร์มอย่างน้อยสองฤดูกาลติดต่อกัน
  • การแสดงออกในลักษณะต่างๆ (การเจริญเติบโต การให้ผลผลิต ประสิทธิภาพการสืบพันธุ์) ของลูกของพ่อและแม่พันธุ์ที่ใช้ มีประโยชน์ต่อการพิจารณาว่าจะเลือกใช้พ่อแม่พันธุ์ตัวเดิมอีกหรือไม่ ดังนั้นเกษตรกรจึงควรให้ความสำคัญและทำการจดบันทึกข้อมูลเหล่านั้นพร้อมพันธุ์ประวัติไว้เพื่อการพิจารณาในด้านต่างๆ สำหรับการพัฒนาศักยภาพการผลิตภายในฟาร์มของเกษตรกรเอง
  • เกษตรกรต้องพึงระลึกเสมอว่า การปรับปรุงพันธุ์โคนม นั้นเป็นการจัดการทางพันธุกรรม (คัดเลือกและผสมพันธุ์) โดยหวังผลให้โคนมรุ่นลูก (โดยเฉลี่ย) มีลักษณะที่พึงประสงค์ดีกว่าโคนมรุ่นพ่อแม่ ดังนั้น การใช้น้ำเชื้อพ่อพันธุ์ตัวใดก็ได้เพื่อทำให้แม่โคท้องและกลับมาให้ผลผลิตอีกครั้งจึงไม่ใช่การปรับปรุงพันธุ์แต่เป็นเพียงการผสมพันธุ์เพื่อให้แม่โคกลับมาให้ผลผลิตใหม่อีกครั้งเท่านั้น การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์และการจับคู่ผสมพันธุ์ที่ดีที่มีประสิทธิภาพเท่านั้นถึงจะช่วยให้ การเพิ่มศักยภาพหรือการแก้ไขปัญหาการผลิตทางพันธุกรรม สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผลในเชิงปฏิบัติ