ที่มา: วารสารโคนม ปีที่ 19 ฉบับที่ 2

ผู้เขียน: ธรรมนูญ ทองประไพ

การเก็บรักษาและการใช้น้ำเชื้อแช่แข็ง

ศูนย์ส่งเสริมการเลี้ยงโคนม หรือสหกรณ์โคนมต่างๆ ที่มีการบริการผสมเทียม มักจะประสบปัญหาน้ำเชื้อแช่แข็งที่เก็บรักษา ใช้ในธนาคาร (Semen Bank) ของศูนย์หรือสหกรณ์ฯ คุณภาพต่ำลงหรือเสื่อมคุณภาพไปเลย โดยไม่ทราบสาเหตุ หรือกว่าจะทราบก็ปรากฏว่า น้ำเชื้อแช่แข็งทั้งหมดในที่เก็บไว้ในถัง ไม่สามารถนำไปใช้บริการผสมเทียมได้ ขณะเดียวกันพนักงานผสมเทียมก็มักประสบปัญหาเรื่องการใช้ การละลายที่ไม่ถูกวิธี ทำให้น้ำเชื้อที่ผสมเทียมให้แม่โคคุณภาพต่ำลง ดังนั้น ผมจึงขอนำเรื่องที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการเก็บรักษาน้พเชื้อแช่แข็ง และพนักงานผสมเทียม คือ การเก็บรักษาและการใช้น้ำเชื้อแช่แข็ง ซึ่งเขียนโดย น.สพ.บุญญวัฒน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา โดยหวังอย่างยิ่งว่า จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบันนี้การผสมเทียมโคโดยใช้น้ำเชื้อแช่แข็งโค-กระบือ เป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางและได้ผลดี สามารถแพร่กระจายสัตว์พันธุ์ดีได้รวดเร็วขึ้นและยังสามารถผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งจากพ่อพันธุ์ดีจากต่างประเทศที่ได้ผ่านการปรับปรุงพันธุ์และทดสอบสกุลสัตว์พ่อพันธุ์เรียบร้อยแล้วมาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ของประเทศได้เป็นอย่างดี ปัญหาและอุปสรรคที่มักเกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ผสมเทียม โดยเฉพาะผู้ที่ขาดประสบการณ์ มักจะพบอยู่เสมอๆ ก็คือ การเก็บรักษาและการใช้น้ำเชื้อแช่แข็งไม่ถูกต้องซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เปอร์เซ็นต์การผลิตต่ำเป็นเหตุให้เกิดการสูญเสียทั้งแรงงานเจ้าหน้าที่ที่จะต้องทำการผสมเทียมซ้ำ เกษตรกรสิ้นเปลืองค่าเลี้ยงดูและขาดรายได้ที่ควรจะได้จากผลผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้บริการผสมเทียมของกรมปศุสัตว์เป็นบริการไม่คิดมูลค่ารัฐจะต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายสูง หรือการเสียเงินตราสู่ต่างประเทศในกรณีที่เป็นน้ำเชื้อนำเข้า และในปัจจุบันนี้ น้ำเชื้อแช่แข็งนิยมผลิตโดยบรรจุในหลอดพลาสติกขนาดเล็กมีปริมาณเพียง 0.25 มล. หรืออย่างงมากก็ไม่เกิน 0.5 มล. เท่านั้น เวลาที่ทำการผสมเทียมจึงจำเป็นจะต้องฉีดน้ำเชื้อทุกหยดเข้าไปในมดลูกให้หมด จึงไม่มีโอกาสที่จะทราบได้ว่า น้ำเชื้อที่ฉีดเข้าไปยังมีคุณภาพดีอยู่หรือไม่ เนื่องจากไม่สามารถขยักเอาน้ำเชื้อเก็บไว้ตรวจได้เลย และเจ้าหน้าที่ผสมเทียมเองก็อาจจะไม่มีโอกาสรู้ล่วงหน้าได้เลยว่าน้ำเชื้อที่ใช้ยังมีคุณภาพดีอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะในหน่วยงานเล็กๆ ทั่วไปที่ไม่มีอุปกรณ์ในการตรวจคุณภาพน้ำเชื้อ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ดังกล่าวมา วิธีการเก็บรักษาและการใช้น้ำเชื้อแช่แข็งที่ถูกต้องเป็นวิธีที่จะช่วยลดปัญหาเหล่านี้ได้มาก

ถังบรรจุไนโตรเจนเหลวและถังบรรจุน้ำเชื้อแช่แข็ง

เนื่องจากน้ำเชื้อแช่แข็งที่ใช้กันอยู่เป็นประจำที่จะต้องเก็บรักษาไว้ใต้ระดับของไนโตรเจนเหลว หรือที่ -196 องศาเซลเซียส ดังนั้นจึงควรที่จะรู้จักส่วนประกอบและการทำงานของถังไนโตรเจนเหลว และถังเก็บน้ำเชื้อแช่แข็งไว้บ้างพอสมควร

ถังบรรจุน้ำเชื้อแช่แข็งและถังไนโตรเจนเหลวนั้นมีส่วนประกอบและการทำงานคล้ายคลึงกันจะต่างกันบ้างเล็กน้อยที่ปากของถังเก็บน้ำเชื้อนั้นอาจจะมีปากกว้างกว่าถังบรรจุไนโตรเจนเหลว ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการใช้งานและที่ปากของถังเก็บน้ำเชื้อจะมีรอยปากไว้เป็นร่องไว้สำหรับแขวนก้านเก็บกระบอกน้ำเชื้อ (Canister) และที่แกนของฝาถังซึ่งส่วนใหญ่จะทำด้วย Stylofoam จะเซาะร่องไว้เพื่อบังคับไม่ให้ก้านคานิสเตอร์เคลื่อนไปมาได้ อย่างไรก็ตาม มีถังของบางบริษัทที่เป็นได้ทั้งถังเก็บน้ำเชื้อและเก็บไนโตรเจนเหลว

ดังรูปแสดงถังเก็บไนโตรเจนเหลวและถังเก็บน้ำเชื้อแช่แข็งประกอบด้วยถัง 2 ชั้น ส่วนใหญ่จะทำด้วยอะลูมิเนียม หรือ Stainless Steel ระหว่างชั้นทั้งสองบรรจุไว้ด้วยสารซึ่งเป็นฉนวนความร้อน (Insulator) และเป็นสุญญากาศ จุดอ่อนของถังจะอยู่ที่ส่วนคอของถังซึ่งจะใช้วัตถุพวก Fiber ซึ่งเป็นตัวนำความร้อนที่เลวเป็นตัวเชื่อมระหว่างถังชั้นนอกและถังชั้นในโดยใช้ส่วนคอถังเป็นสะพานเชื่อมติดระหว่าง Fiber กับอะลูมิเนียมจะใช้กาวอีป๊อกซี่เป็นตัวเชื่อม จึงมักจะมีปัญหาเกิดรอยรั่วที่จุดนี้เสมอๆ

ก้าน Canister ก็เช่นกัน จะมีส่วนที่เป็น Fiber กั้นระหว่างด้านบนซึ่งใช้คล้องติดกับปากถังด้านล่างซึ่งแช่อยู่ในไนโตรเจนเหลวเพื่อป้องกันไม่ให้ความร้อนเข้ามาตามก้าน Fiber ได้สะดวก ดังนั้นในกรณีก้าน Canister หักซึ่งเกิดขึ้นได้เสมอๆ นั้น เคยพบว่าเจ้าหน้าที่บางท่านได้แก้ไขโดยใช้ลวดผูกกับตัวถัง Canister แทนของเดิมซึ่งจะทำให้ความร้อนจากภายนอกเข้าสู่ถังชั้นในโดยทางก้าน Canister ได้ ทำให้ไนโตรเจนเหลวระเหยเร็วกว่าปกติสิ้นเปลืองไนโตรเจนเหลวมากขึ้น

ส่วนฝาถังนั้นปกติจะมีแกน (Plug) ยื่นลงไปในส่วนคอถังและแกนนี้มักจะทำด้วย Stylofoam ซึ่งหักได้ง่ายและพบเสมอ สาเหตุส่วนใหญ่มักจะมาจากความไม่ระมัดระวังในการปิดเปิดถังซึ่งอาจจะเป็นเพราะแขวนก้าน Canister ไม่ตรงและไม่อยู่ในร่องที่แกนฝาแล้วพยายามกดบังคับปิดฝาลงไปและปิดได้ไม่สนิท และเวลาเปิดก็จะเปิดได้ยาก การปิดฝาไม่สนิททำให้มีน้ำแข็งเกาะบริเวณฝาถังทำให้เปิดไม่ออกจึงต้องใช้แรงโยกฝาถังไปมา ฝาถังจึงมีโอกาสฉีกหรือหักได้ง่าย จึงควรป้องกันโดยก่อนที่จะปิดฝาถังควรดูให้ก้าน Canister อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องเสียก่อนทุกครั้ง ปกติแล้วส่วนก้นถังจะมีแป้นโลหะเป็นตัวล็อคให้ Canister ให้เข้าที่จะทำให้ปิดเปิดฝาได้ง่าย

Canister ส่วนใหญ่มักจะทำด้วยโลหะเป็นทรงกระบอกทางด้านล่าง เจาะรูให้ไนโตรเจนเหลวไหลออกและเข้าได้สะดวก ดังนั้นเวลาจะเก็บน้ำเชื้อจึงนิยมใช้กระบอกพลาสติกที่เรียกว่า Goblet ใส่ไว้ใน Canister อีกทีหนึ่งแล้วบรรจุหลอดน้ำเชื้อไว้ใน Goblet นี้ในแนวดิ่ง ปัญหาที่เกิดขึ้นเสมอๆ ก็คือ กระบอก Goblet ลอยหลุดออกจาก Canister ลงไปอยู่ก้นถัง ทำให้สูญเสียน้ำเชื้อเป็นจำนวนมาก และถ้า Goblet ไปขวางอยู่ในที่ล็อค Canister แล้ว จะทำให้แขวน Canister ให้เข้าที่ได้ยากและเป็นเหตุให้ปิดฝาไม่สนิทดังที่กล่าวมาแล้ว

สาเหตุที่ทำให้ Goblet ลอกและตกไปอยู่ก้นถัง เนื่องจากว่าขณะทำการถ่ายน้ำเชื้อจากถังสต็อคไปยังถังสนามนั้น เจ้าหน้าที่อาจจะไม่ระมัดระวังโดยการยก Canister ขึ้นมาสูงเกินกว่าปากถังทำให้ไนโตรเจนเหลวระเหยออกไปได้อย่างเร็วหรือใช้เวลานานในการย้ายถ่ายน้ำเชื้อ หรือย้ายถ่ายน้ำเชื้อออกเป็นจำนวนมาก มีผลทำให้ปริมาณไนโตรเจนเหลวลดลงอย่างมาก Goblet จะเบาขึ้นเวลาจุ่ม Canister กลับลงในถัง Goblet จะลอยออกมานอก Canister และตะแคงจมลงก้นถังได้

ข้อแนะนำในการแก้ไขไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ทำได้ง่ายๆ หลาย วิธี คือ

  • ถ้าในแต่ละ Canister มี Goblet บรรจุอยู่เพียงอันเดียว ทุกครั้งเวลาจะจุ่ม Canister ลงสู่ก้นถังให้หาไม้เล็กๆ ยาวๆ (คล้ายไม้เรียม) กดไม้ตามลงไปด้วยจนกระทั่งระดับของไนโตรเจนเหลวท่วมปาก Goblet จึงดึงไม้ออก
  • ใช้วิธีผูก Goblet ติดกับ Canister โดยเจาะรูที่ส่วนบนของ Goblet Canister แล้วใช้ลวดเล็กๆ ผูกติดกันไว้
  • ในกรณี Canister นั้นมี Goblet เล็กๆ หลายอันควรจะหา Gobleเปล่าๆ ขนาดเล็กมาไล่อัดลงไปใน Canister จนแน่น จะช่วยไม่ให้ Goblet ที่มีน้ำเชื้อลอยขึ้นมาได้

ข้อห้าม ห้ามเก็บน้ำเชื้อโดยการเอา Goblet ออกแล้วใส่หลอดน้ำเชื้อลงใน Canister โดยตรง ทั้งนี้เพราะในการย้ายถ่ายน้ำเชื้อจากถังเก็บ จำเป็นต้องยก Canister ขึ้นมาอยู่ในระดับปากถัง ไนโตรเจนเหลวจะไหลออกหมดจาก Canister (มีรูที่ก้น) และไม่มีไนโตรเจนเหลวหล่อเลี้ยงหลอดน้ำเชื้ออยู่เป็นระยะเวลาหนึ่งมีผลต่อคุณภาพของน้ำเชื้อซึ่งจะลดลงอย่างมาก

การจัดระบบการเก็บรักษาน้ำเชื้อ

การจัดระบบในการเก็บรักษาน้ำเชื้อมีความสำคัญอย่างมาก เพราะถ้าสามารถจัดเก็บน้ำเชื้อให้เป็นระบบที่ดีได้ จะช่วยให้ทำงานได้สะดวก ไม่เกิดความผิดพลาดใดๆ

โดยปกติถังเก็บน้ำเชื้อทั่วๆ ไป จะมี Canister อยู่ประมาณ 6 อัน เท่ากับสามารถเก็บน้ำเชื้อพ่อโค-กระบือ ได้ถึง 6 ตัว แต่ถ้าบางหน่วยงานมีจำนวนของน้ำเชื้อพ่อโคมากกว่านั้น ในแต่ละ Canister ก็ยังสามารถใช้กระดาษแข็ง (ตัดให้มีขนาดเท่ากับเส้นผ่าศูนย์กลางของ Goblet แบ่งที่ให้เก็บรวมกันได้ 2 – 3 – 4 พ่อพันธุ์ แล้วแต่ปริมาณและขนาดของ Goblet นั้น หรืออาจจะใช้ Goblet เล็กหลายๆ อัน ต่างๆ กัน ใส่ไว้ใน Goblet ใหญ่ และส่วนใหญ่ที่ปลายด้านบนของ Canister (ที่ปากถัง) อาจมีห่วงแขวนป้ายลวดใช้กระดาษแข็ง เทปกระดาษ เขียนระบุไว้ว่าในถังนั้นๆ เก็บน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ หมายเลข/พันธุ์อะไร ทั้งนี้และทั้งนั้นจะได้เกิดความง่ายและสะดวกที่จะหยิบใช้งาน ความผิดพลาดก็เกิดขึ้นน้อย เวลาที่ใช้ในการหยิบจ่ายน้ำเชื้อจะได้ไม่ต้องยกหลอดน้ำเชื้อมาอ่านชื่อเบอร์พ่อพันธุ์นานๆ เพราะจะมีผลต่อคุณภาพน้ำเชื้อเป็นอย่างมากดังรูปแสดงการถ่ายน้ำเชื้อจากถังเก็บสู่ถังสนาม

ในทางปฏิบัติการเก็บรักษาน้ำเชื้อที่หน่วยงานผสมเทียมของท่าน ควรศึกษาและทำความเข้าใจกับใบส่งน้ำเชื้อที่กำกับไปด้วยทุกครั้งให้ละเอียด เพราะในใบส่งนั้นจะบอกรายละเอียดของชื่อ เบอร์ พ่อพันธุ์ สีของหลอดน้ำเชื้อ และขนาดของ Goblet ที่ใส่เพื่อความสะดวกและถูกต้องแก่ผู้ใช้อยู่แล้ว จากนั้นจึงนำเข้าเก็บในถังสต็อคที่หน่วยงานอย่างมีระบบต่อไป

การเติมไนโตรเจนเหลวในถังเก็บน้ำเชื้อ

ถังเก็บน้ำเชื้อจะต้องเติมไนโตรเจนเหลวให้ท่วมถึงระดับคอถังอยู่เสมอคือ จะต้องเติมไนโตรเจนเหลวให้เต็มทุกวัน ทั้งนี้เพื่อมุ่งหวังการรักษาคุณภาพของน้ำเชื้อแช่แข็งเป็นสำคัญ ในกรณีที่ไนโตรเจนเหลวในถังเก็บหมดก่อนกำหนด หรือเกิดอุบัติเหตุแก่ถังเก็บจนชำรุด จะได้มีเวลาแก้ไข เช่น จัดหาไนโตรเจนเหลวเพิ่ม หรือเปลี่ยนถังได้ทันก่อนที่จะเกิดความเสียหายแก่น้ำเชื้อที่เก็บไว้ (ในถังเก็บปกติระดับไนโตรเจนเหลวจะลดลงจากคอถังถึงหลอดน้ำเชื้อใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์) หากเติมไนโตรเจนเหลวไว้เพียงพอท่วมหลอดน้ำเชื้อถ้าเกิดกรณีดังกล่าวหรือแม้แต่หลงลืมก่อนวันหยุดหรือหยุดราชการหลายๆ วัน จะเกิดความเสียหายแก่น้ำเชื้อได้โดยง่าย

การใช้ถังอย่างไรจึงจะมีอายุใช้งานได้นาน

ถังไนโตรเจนเหลวและถังเก็บน้ำเชื้อนั้น ถ้าใช้อย่างถูกวิธี ก็จะมีอายุการใช้งานไม่น้อยกว่า 5 ปี ข้อควรระวังอย่างยิ่งคือ การกระทบกระแทกไม่ว่ากรณีใดๆ เพราะจะทำให้ถังรั่วได้ง่าย ซึ่งจะเกิดการกระทบกระแทกได้บ่อยในเวลายกหรือวางถังไนโตรเจนเหลวตอนเติมใส่ลงในถังเก็บน้ำเชื้อ ถ้าเป็นถังไนโตรเจนเหลวที่มีปากกว้าง อาจใช้ภาชนะเช่น Goblet เปล่าตักไนโตรเจนเหลวเติมใส่ลงในถังเก็บน้ำเชื้อก็จะเป็นการช่วยลดปัญหานี้ได้บ้าง

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ อย่าปล่อยให้ถังแห้งควรจะมีไนโตรเจนเหลวเหลือคาถังอยู่เสมอ เพราะถ้าปล่อยให้ถังแห้งแล้ว อุณหภูมิภายในถังจะกลับขึ้นมาเท่ากับอุณหภูมิห้องคือ 30°C. ถ้านำมาเติมไนโตรเจนเหลวลงไปใหม่ อุณหภูมิจะเปลี่ยนจาก 30°C. ลงไปเป็น -196°C. โดยทันที ทำให้โลหะที่ใช้ทำถังชั้นในจะมีการหดตัวอย่างรวดเร็ว และเมื่อเกิดขึ้นบ่อยๆ โลหะ (อะลูมิเนียม) ก็จะเสื่อมสภาพไป โดยมักจะเป็นตามด สังเกตได้จากเนื้อโลหะ(อะลูมิเนียม) เป็นขุยๆ เล็กๆ อยู่ทั่วไปวิธีแก้ไขในกรณีที่ถังแห้งคือ ก่อนที่จะเติมไนโตรเจนเหลวลงไป ให้ใช้ Goblet ใส่ไนโตรเจนเหลว ใส่ Canister แขวนใส่ลงไปในถังไว้ก่อน (เพื่อมิให้ไนโตรเจนเหลวสัมผัสกับถังชั้นในโดยตรง) ปล่อยให้ไนโตรเจนเหลว ค่อยๆ ระเหยจนหมด Canister ซึ่งจะช่วยให้อุณหภูมิของถังชั้นในลดลงอย่างช้าๆ ทำซ้ำสัก 4 -5 ครั้งแล้วจึงเติมไนโตรเจนเหลวใส่ลงไปในถังโดยตรงได้

การใช้น้ำเชื้อแช่แข็ง

การใช้น้ำเชื้อแช่แข็งนั้น จะต้องทำให้ละลายเสียก่อน วิธีที่ถูกต้องและได้ผลดีที่สุดคือ การละลายในน้ำอุ่นที่มีอุณหภูมิ 35°C ถึง 37°C นานอย่างน้อย 30 วินาที และควรจะต้องใช้ผสมเทียมในเวลาไม่เกิน 15 นาที จะให้อัตราการผสมติดดีที่สุดมีผู้ปฏิบัติงานผสมเทียมส่วนมากยังเข้าใจผิดอยู่ว่า อุณหภูมิของอากาศในประเทศไทยโดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือในกลางวันมีอุณหภูมิ 30°C ถึง 40°C อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องละลายน้ำเชื้อในน้ำอุ่น แต่ใช้วิธีละลายในอากาศ (Air Thawing) ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดอย่างมาก เพราะเหตุว่าถ้านำหลอดน้ำเชื้อออกมาจากไนโตรเจนเหลวแล้วจะสังเกตเห็นทันทีว่า มีฝ้าขาวจับเต็มหลอดน้ำเชื้อนั้น หรือพูดได้ว่าคือเกล็ดน้ำแข็งที่มีอุณหภูมิ 0°C. นั่นเอง ทำให้อุณหภูมิ 30°C ถึง 40°C เข้าไปไม่ถึง หลอดน้ำเชื้อต้องรอจนกว่าฝ้าขาวนั้นละลายหมดเสียก่อน และที่สำคัญที่สุดคือ ที่อุณหภูมิ 0°C เป็นจุดวิกฤตที่จะทำให้น้ำเชื้อเสื่อมคุณภาพได้เป็นอย่างมาก ดังนั้น ถ้าไม่สามารถหาน้ำอุ่นได้ ขอแนะนำว่าให้ใช้น้ำธรรมดาที่มีอยู่ทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นน้ำบ่อ น้ำประปาหรือน้ำที่หาได้จากบ้านของเกษตรกรก็ได้ซึ่งจะมีอุณหภูมิประมาณ 20°C ถึง 25°C มาใช้ก็ยังดีกว่าใช้วิธีละลายในอากาศ

มีอีกวิธีหนึ่งซึ่งเจ้าหน้าที่ผสมเทียมมักนิยมทำกันเพราะสะดวกและไม่ยุ่งยากก็คือ การใช้ฝ่ามือทั้ง 2 ข้าง ปั่นหลอดน้ำเชื้อ โดยอาศัยอุณหภูมิของร่างกายเป็นตัวทำให้น้ำเชื้อละลาย ซึ่งถ้าทำให้ถูกวิธีก็จะได้ผลดีพอสมควรที่สำคัญก็คือ ผู้ปฏิบัติมักจะไม่ได้กำน้ำเชื้อทั้งหลอดไว้ในฝ่ามือ บางส่วนที่ยื่นพ้นฝ่ามือออกมาจะมีความแตกต่างของอุณหภูมิในหลอดน้ำเชื้อนั้น เป็นเหตุให้คุณภาพของน้ำเชื้อลดลง ถ้าจะใช้วิธีปั่นด้วยฝ่ามือแล้ว ก็ขอให้กำหรือประกบทุกส่วนของหลอดน้ำเชื้อให้อยู่ในฝ่ามือ แล้วถูฝ่ามือไปมาเล็กน้อย จะทำให้น้ำเชื้อละลายได้และมีคุณภาพดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม วิธีที่ดีที่สุดก็คือ การละลายโดยใช้น้ำอุ่นที่ 35°C ถึง 37°C นานอย่างน้อย 30 วินาที และพยายามใช้ให้เสร็จภายในไม่เกิน 15 นาที

สิ่งประกอบสำหรับประเด็นนี้ก็คือ การบังคับหรือเตรียมตัวสัตว์ให้พร้อมที่จะรับการผสมเทียม เมื่อพร้อมดีแล้วจึงลงมือเตรียมละลายน้ำเชื้อ เตรียมอุปกรณ์ฉีดน้ำเชื้อ ล้วงตรวจอวัยวะสืบพันธุ์แล้วทำการผสมให้ก็จะอยู่ภายในเวลาที่กล่าว และได้ผลที่ดีที่สุด

ข้อควรจำ

จงระลึกไว้เสมอว่า น้ำเชื้อแช่แข็งทุกหลอดเป็นของมีค่าราคาสูงแม้จะเป็นน้ำเชื้อที่ส่วนใหญ่ผลิตได้เองก็ตาม ดังนั้นควรจะระมัดระวังในการเก็บรักษาและการใช้ทุกขั้นตอนให้เป็นไปอย่างถูกต้องเพื่อทำให้การทำงานผสมเทียมได้ผลดีมากที่สุด ซึ่งจะช่วยให้การเลี้ยงสัตว์ก้าวหน้าดียิ่งขึ้น การปรับปรุงและขยายพันธุ์สัตว์ก็จะส่งผลโดยรวดเร็ว