สถานภาพการผลิตและการคัดเลือกพ่อพันธุ์ของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทย

มัทนียา สารกุล, ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ, ธนาทิพย์ สุวรรณโสภี,ธรรมนูญ ทองประไพ และอภิญญา หิรัญวงษ์

ในปัจจุบันการเลี้ยงโคนมเกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยทั้งนี้เป็นผลอันเนื่องมาจากการสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนบริโภคน้ำนมที่ผลิตได้ภายในประเทศมากยิ่งขึ้นของรัฐบาล ในปี พ.ศ. 2550 ประเทศไทยมีโคนมรวมทั้งสิ้น 489,593 ตัว กระจายอยู่ในฟาร์มของเกษตรกรจำนวน 21,230 รายทั่วประเทศ และสามารถผลิตน้ำนมดิบได้ประมาณ 2,000 ตันต่อวัน หรือ 730,000 ตันต่อปี (กรมปศุสัตว์, 2550) อย่างไรก็ตาม ปริมาณผลผลิตน้ำนมที่ผลิตได้โดยเกษตรกรเหล่านี้ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ ส่งผลให้มีการนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นม มูลค่ามากกว่า 17,169,709,707 บาท ในปี พ.ศ. 2550 (กรมปศุสัตว์, 2550)

ในการผลิตโคนม การคัดเลือกและจับคู่ผสมพันธุ์ระหว่างพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์โคนม (การปรับปรุงพันธุ์โคนม) เป็นวิธีการดำเนินงานที่สามารถช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เนื่องจากต้นทุนในการคัดเลือกและจับคู่ผสมพันธุ์ (เกิดขึ้นในช่วงก่อนการผสมพันธุ์) มีมูลค่าต่ำกว่าต้นทุนในการจัดการฟาร์มและสภาพแวดล้อม (เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลานับตั้งแต่โคตัวนั้นได้รับการปฏิสนธิจนกระทั่งถูกคัดทิ้งออกไปจากฝูง) และหากการคัดเลือกและจับคู่ผสมพันธุ์ทำได้อย่างแม่นยำ วิธีการดังกล่าวจะส่งผลให้เกษตรกรมีโอกาสได้โคนมทดแทนรุ่นลูกที่มีความสามารถในการแสดงออกสำหรับลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจดีกว่าโคนมรุ่นปัจจุบันหรือรุ่นพ่อแม่ (ศกร และคณะ, 2551)

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผลผลิตน้ำนมเฉลี่ยของแม่โคแต่ละตัวที่เลี้ยงดูในประเทศไทยจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น แต่ความสามารถทางพันธุกรรมสำหรับผลผลิตน้ำนมกลับมีการเปลี่ยนแปลงน้อย (สำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์, 2550; องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย, 2550; Koonawootrittriron et al., 2008) และความสามารถในการให้ผลผลิตน้ำนมของโคนมรุ่นใหม่นั้น ส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์กับลักษณะความสามารถทางพันธุกรรมของแม่ที่ถูกเลี้ยงดูในฟาร์มของเกษตรกรมากกว่าพ่อพันธุ์ (หรือน้ำเชื้อพ่อพันธุ์โคนม) ที่เกษตรกรนำมาใช้ในการผสมพันธุ์ ซึ่งลักษณะเช่นนี้บ่งบอกถึงปัญหาในความสัมฤทธิ์ผล (ความแม่นยำ) ของการคัดเลือกและการจับคู่ผสมพันธุ์ระหว่างพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์โคนมที่ปฏิบัติในฟาร์มของเกษตรกร (Koonawootrittriron et al., 2008) ดังนั้น เพื่อให้ทราบถึงข้อมูลที่จะสามารถนำมาใช้ในการพิจารณาแก้ไขสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรมของโคนมในประเทศไทย คณะผู้วิจัยฯ จึงได้ทำการศึกษาสถานภาพการผลิตโคนม ระดับความรู้และความเข้าใจขั้นพื้นฐานในการคัดเลือกและผสมพันธุ์โคนม ตลอดจนข้อคิดเห็นที่มีต่อสถานการณ์การผลิตโคนมในปัจจุบันของเกษตรกรในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2551

วิธีการศึกษา

ตะวันออกเฉียงเหนือ (31 ราย; 31%) และภาคใต้ (19 ราย; 18%) ของประเทศไทย ในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551 ถึง เดือน สิงหาคม พ.ศ. 2551 โดยคำถามที่ใช้ในแบบสอบถามและการสัมภาษณ์เป็นชุดคำถามที่เกี่ยวข้องกับ 1) สถานภาพการผลิต เช่น ชื่อและที่อยู่ของเกษตรกร เบอร์โทรศัพท์ ประสบการณ์ วุฒิการศึกษา แหล่งข้อมูลความรู้และเทคนิคเกี่ยวกับการผลิตโคนม ประชากรโคนม และผลผลิตน้ำนม เป็นต้น 2) การคัดเลือกพ่อพันธุ์โคนม เช่น การพิจารณาคัดเลือกน้ำเชื้อพ่อพันธุ์โคนม แหล่งข้อมูลที่นำมาใช้ในการคัดเลือกน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ แหล่งน้ำเชื้อพันธุ์โคที่เกษตรกรนิยมใช้ ความรู้ความเข้าใจในการใช้ประโยชน์จากค่าการผสมพันธุ์ (EBV; Estimate Breeding Value) ความรู้ความเข้าใจในการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม และปัญหาหรืออุปสรรคในการเลือกใช้น้ำเชื้อพ่อพันธุ์โคนม เป็นต้น และ 3) ข้อคิดเห็นของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่มีต่อราคาจำหน่ายน้ำนมดิบในปัจจุบัน ปัญหาและอุปสรรคในการเลี้ยงโคนม และการประกอบอาชีพ เป็นต้น ลักษณะของคำถามมีทั้งที่ให้เกษตรกรเลือกตอบตามตัวเลือกที่เสนอให้ เรียงลำดับความสำคัญ และการกรอก

ข้อมูล

ข้อมูลจากแบบสอบถามและการสัมภาษณ์ที่รวบรวมได้จากเกษตรกร ถูกนำมาตรวจสอบความสมบูรณ์และความถูกต้อง จากนั้นจึงจัดหมวดหมู่ของข้อมูลเพื่อลงรหัสสำหรับใช้ในการแปลความหมายจากแบบสอบถามทั้งที่เป็นตัวเลขหรือตัวอักษรที่สามารถใช้ในการประมวลผลทางสถิติ ข้อมูลชุดดังกล่าวถูกนำมาศึกษาโครงสร้างและการกระจายตัวด้วยสถิติเชิงพรรณนา ทั้งในภาพรวมและจำแนกตามภูมิภาค ค่าเฉลี่ยแบบลีสแควร์ของลักษณะที่สนใจถูกประมาณค่าสำหรับแต่ละภูมิภาคและถูกนำมาใช้ในการเปรียบเทียบความแตกต่างที่ระดับนัยสำคัญ 0.05

ผลการศึกษา

ก. สถานภาพการผลิต

เกษตรกรในภาพรวมของชุดข้อมูลที่ศึกษามีประสบการณ์ในการเลี้ยงโคนมเฉลี่ย 11.88 ± 7.14 ปี เกษตรกรแต่ละรายเลี้ยงแม่โครีดนมเฉลี่ย 15.47 ± 11.51 ตัว โดยส่วนใหญ่เป็นโคนมลูกผสมที่มีระดับสายเลือดโคนมโฮลสไตน์มากกว่า 75% ซึ่งโคนมแต่ละตัวของเกษตรกรสามารถให้ผลผลิตน้ำนมดิบได้เฉลี่ย 10.15 ± 4.49 กิโลกรัม/ตัว/วัน

เกษตรกรในแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกันในเรื่องประสบการณ์และจำนวนแม่โครีดนม (P < 0.05) ยกเว้น ปริมาณผลผลิตน้ำนมเฉลี่ยต่อตัวต่อวัน (ตารางที่ 1) โดยเกษตรกรที่อยู่ในภาคกลางมีประสบการณ์การเลี้ยงโคนมโดยเฉลี่ยมากที่สุด (15.84 ± 1.18 ปี) รองลงมาได้แก่ เกษตรกรที่อยู่ในภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงจำนวนแม่โครีดนมในแต่ละฟาร์ม พบว่า เกษตรกรที่อยู่ในภาคใต้มีการเลี้ยงโคนมเฉลี่ยต่อฟาร์มมากที่สุด (21.77 ± 2.54 ตัวต่อฟาร์ม) รองลงมาได้แก่เกษตรกรที่อยู่ในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ตามลำดับ

ตารางที่ 1 ค่าเฉลี่ยลีสแควร์และความคลาดเคลื่อนมาตรฐานสำหรับประสบการณ์ในการเลี้ยงโคนม จำนวนแม่โครีดนมในฟาร์ม และผลผลิตน้ำนมต่อแม่โครีดนมจำแนกตามภูมิภาค

a, b, c ตัวอักษรในแถวนอนต่างกัน มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05)

เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมส่วนใหญ่ (ตารางที่ 2) จบการศึกษาในระดับประถมศึกษา (66%) สมาชิกภายในครอบครัวช่วยกันเลี้ยงโคนม (97%) มีการจัดเก็บข้อมูลการให้ผลผลิตและพันธุ์ประวัติสำหรับโคนมแต่ละตัว (55%) และใช้เครื่องรีดนมแบบถังรีดในการรีดนมจากแม่โคในฟาร์ม (97%)

ตารางที่ 2 จำนวนและเปอร์เซ็นต์ของฟาร์ม สำหรับคำถามที่เกี่ยวข้องกับระดับการศึกษา การมีส่วนร่วมในการทำงานของสมาชิกในครอบครัว การจดบันทึกข้อมูลพันธุ์ประวัติและผลผลิตน้ำนมของโคนมรายตัว วิธีการและรีดนม จำแนกตามภูมิภาคและในภาพรวมทุกภูมิภาค

เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมส่วนใหญ่ได้รับข้อมูลความรู้หรือเทคนิคต่างๆ เกี่ยวกับการผลิตโคนม จากวารสาร นิตยสาร และจุลสารที่เกี่ยวข้องกับโคนมมากเป็นลำดับที่ 1 (39%) ลำดับถัดมาได้แก่ จากข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐ (เช่น กรมปศุสัตว์ อ.ส.ค. เป็นต้น) หนังสือหรือคู่มือ การพูดคุยกับเกษตรกรรายอื่นๆ และการฝึกอบรมโดยบริษัทเอกชนหรือศูนย์รับนม ตามลำดับ ปัญหาที่เกษตรกรส่วนใหญ่ประสบมากที่สุด คือ อัตราการผสมติดของแม่โครีดนมมีค่าต่ำ (63%) รองลงมาได้แก่ ปัญหาเต้านมอักเสบ ไข้เห็บ พยาธิภายใน ไข้สามวัน โรคปากและเท้าเปื่อย การแท้งลูก และลูกพิการ ตามลำดับ 

ในแง่ของอาหารและการให้อาหาร โดยทั่วไปเกษตรกรให้อาหารข้นแก่แม่โครีดนมเฉลี่ย 7.51 ± 2.89 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน (น้อยที่สุด 2 กิโลกรัมต่อตัวต่อวันและมากที่สุด 15 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน) ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ซื้ออาหารข้นจากสหกรณ์หรือหน่วยงานที่เป็นสมาชิก (77%) รองลงมาคือ กลุ่มที่ผลิตขึ้นเองและซื้อมาใช้บ้างในบางครั้ง (15%) และที่ผลิตอาหารข้นใช้เองทั้งหมดนั้นมีเพียงเล็กน้อย (8%) เท่านั้น ส่วนอาหารหยาบ เกษตรกรให้อาหารหยาบแก่แม่โครีดนมเฉลี่ย 58.34 ± 74.96 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน (น้ำหนักสด) โดยอาหารหยาบที่เกษตรกรนำมาให้แก่แม่โครีดนมมากที่สุดนั้นได้แก่ หญ้าสด (52%) รองลงมาได้แก่ ฟางข้าว หญ้าแห้ง พืชตระกูลถั่ว ข้าวโพดหรือหญ้าหมัก และอื่นๆ ตามลำดับ โดยอาหารหยาบที่ใช้นั้นส่วนใหญ่ได้มาจากการเพาะปลูกในพื้นที่ของตนเอง (73%) รองลงมา ได้แก่ การตัดมาจากพื้นที่อื่นที่ไม่ใช่ของตนเอง ซื้อจากสหกรณ์ ซื้อจากบริษัทเอกชน และอื่นๆ ตามลำดับ

ข. การคัดเลือกพ่อพันธุ์โคนม

ในการคัดเลือกและผสมพันธุ์โคนม เกษตรกรส่วนใหญ่ให้ผู้อื่นตัดสินใจเลือกใช้น้ำเชื้อพ่อพันธุ์โคนมแทน โดยเกษตรกรมักให้เจ้าหน้าที่ผสมเทียมช่วยคัดเลือกพ่อพันธุ์ให้มากเป็นลำดับที่ 1 (96%) รองลงมาได้แก่ พนักงานส่งเสริมการขายน้ำเชื้อพันธุ์ของบริษัทที่ปรึกษาฟาร์ม และอื่นๆ ตามลำดับ ในส่วนของเกษตรกรที่พิจารณาดำเนินการด้วยตนเอง เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้ความรู้และประสบการณ์ในการตัดสินใจคัดเลือกน้ำเชื้อพ่อพันธุ์โคนม (49%) รองลงมาได้แก่ การพูดคุยกับเกษตรกรรายอื่นๆ และการพิจารณาข้อมูลหรือคุณค่าการผสมพันธุ์ของพ่อพันธุ์ (EBV) ตามลำดับ โดยในการคัดเลือกพ่อพันธุ์โคนมแต่ละครั้ง เกษตรกรมักพิจารณาจากข้อมูลการให้ผลิตน้ำนมของลูกสาวมากเป็นลำดับที่ 1 (68%) รองลงมา ได้แก่ การพิจารณาจากรูปร่างและโครงสร้างร่างกายของพ่อพันธุ์ คุณค่าการผสมพันธุ์ ราคาน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ ระดับสายเลือดโฮลสไตน์ และแหล่งที่มาของน้ำเชื้อพันธุ์ ตามลำดับ

ในการผสมพันธุ์ เกษตรกรส่วนใหญ่ผสมพันธุ์แม่โคตลอดทั้งปี (54%) โดยมีจำนวนมากที่สุดในฤดูหนาว รองลงมาได้แก่ ฤดูฝน และ ฤดูร้อน ตามลำดับ พ่อพันธุ์โคนมที่เกษตรกรนิยมหรือต้องการใช้ในการผสมพันธุ์ให้กับโคนมในฟาร์มของตนเองมากที่สุดเป็นลำดับที่ 1 คือ โคนมลูกผสมโฮลไตน์ (80%) รองลงมาได้แก่ โคนมพันธุ์แท้โฮลสไตน์ โคนมพันธุ์แท้พันธุ์อื่นๆ และโคเนื้อ ตามลำดับ การผสมพันธุ์ให้กับแม่โคสาวท้องแรกที่เลี้ยงดูโดยเกษตรกร ส่วนใหญ่ผสมติดในการผสมพันธุ์ครั้งที่ 2 (50%) และโคนางท้องที่ 2 ขึ้นไป มักผสมติดในการผสมพันธุ์ครั้งที่ 3 (56%) และเมื่อเกษตรกรพบแม่โคนมในฟาร์มของตนเองเป็นสัด เกษตรกรส่วนใหญ่มักแจ้งให้เจ้าหน้าที่หรือสัตวแพทย์เข้ามาผสมเทียมให้ (96%)

ในเรื่องของความรู้และความเข้าในในการปรับปรุงพันธุ์ การคัดเลือก และการจับคู่ผสมพันธุ์ นั้น เกษตรกรส่วนใหญ่ (79%) ไม่ทราบว่าคุณค่าการผสมพันธุ์สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ และเกษตรกรที่ทราบว่าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มีเพียง 10% เท่านั้น โดยเกษตรกรที่มีหรือเคยเห็นข้อมูลค่าการผสมพันธุ์โคนม (อ.ส.ค. หรือ กรมปศุสัตว์) ส่วนใหญ่ (55%) ใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้นในบางครั้งเท่านั้น ส่วนเกษตรกรที่เคยเห็นแต่ไม่เคยใช้ประโยชน์เลยมีมากถึง 43% ที่เหลือนั้นเป็นเกษตรกรที่ใช้ประโยชน์บ่อยครั้ง (2%)

เกษตรกรส่วนใหญ่ (59%) ไม่ทราบความแตกต่างระหว่างพ่อพันธุ์ที่ผ่านการพิสูจน์แล้ว (proven sire) และพ่อพันธุ์หนุ่มที่รอการพิสูจน์ (young sire) และเกษตรกรที่มีความเข้าใจถูกต้อง คือ ทราบว่าพ่อพันธุ์ผ่านการพิสูจน์แล้วมีความแม่นยำ (accuracy) หรือความน่าเชื่อถือในการถ่ายทอดพันธุกรรม (reliability) สูงกว่าพ่อพันธุ์หนุ่มนั้น มีเพียง 25% นอกจากนี้ยังพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ (58%) ไม่ทราบว่าในการผสมพันธุ์แต่ละครั้ง พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์โคนมจะถ่ายทอดพันธุกรรมสำหรับลักษณะต่างๆ ไปให้ลูกมากเพียงไร และที่มีความเข้าใจถูกต้องหรือทราบว่าพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์โคนมสามารถถ่ายทอดพันธุกรรมให้ลูกได้เพียงครึ่งหนึ่งนั้นมีเพียง 35% ทั้งนี้เกษตรกรส่วนหนึ่ง (7%) ยังคงมีความเข้าใจผิด โดยคิดว่าพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์โคนมสามารถถ่ายทอดพันธุกรรมที่ตนมีทั้งหมดไปให้ลูก ในเรื่องนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ (60%) เห็นว่าการขาดความรู้และความเข้าใจในการพิจารณาความสามารถของพ่อพันธุ์ เป็นปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญต่อความสัมฤทธิ์ผลในการเลือกใช้น้ำเชื้อพ่อพันธุ์โคนมของตนเองมากเป็นลำดับที่ 1 รองลงมาได้แก่ การขาดความมั่นใจในการคัดเลือกพ่อพันธุ์โคนมด้วยตนเอง ราคาของน้ำเชื้อพ่อพันธุ์โคนม การขาดแคลนน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ที่ตนเองต้องการ ความสมบูรณ์ของข้อมูลคุณค่าการผสมพันธุ์ และการขาดโอกาสได้คัดเลือกด้วยตนเอง ตามลำดับ 

ค. ข้อคิดเห็นของเกษตรกรต่อการผลิตโคนม

ในช่วงที่ศึกษา (เดือนกรกฎาคม ถึง เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2551) เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจำหน่ายน้ำนมดิบได้ราคาเฉลี่ย 14.32 ± 0.75 บาท/กิโลกรัม โดยเกษตรกรในภาคกลางจำหน่ายน้ำนมดิบได้ราคาสูงที่สุด (15.15 ± 0.07 บาท/กิโลกรัม) รองลงมาได้แก่ ภาคใต้ (14.43 ± 0.09 บาท/กิโลกรัม) ภาคเหนือ (14.08 ± 0.09 บาท/กิโลกรัม) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (13.58 ± 0.07 บาท/กิโลกรัม) ตามลำดับ ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ (98%) ยังคงเห็นว่าราคาน้ำนมดิบที่ได้รับนี้ยังไม่เหมาะสม และเสนอว่าราคาที่เหมาะสมในขณะนั้น คือ 17.85 ±1.42 บาท/กิโลกรัม (เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 25%) และ ในภาพรวม เกษตรกรเห็นว่าปัญหาและอุปสรรคในการเลี้ยงโคนมที่สำคัญมากเป็นลำดับที่ 1 นั้นคือ วัตถุดิบอาหารสัตว์มีราคาแพง (91%) รองลงมาได้แก่ ราคารับซื้อน้ำนมดิบที่มีมูลค่าต่ำ พันธุ์โคนมที่ไม่เหมาะสมกับสภาพการเลี้ยงและการจัดการของเกษตรกร การขาดความรู้ความเข้าใจและเทคโนโลยีการจัดการเลี้ยงดูโคนม การขาดความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ข้อจำกัดในด้านความรู้และประสบการณ์ในการเลี้ยงโคนมของตัวเกษตรกรเอง และปัญหาอื่นๆ ตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตาม เกษตรกรกรส่วนใหญ่ (88%) ยังคงคิดว่าจะประกอบอาชีพการผลิตโคนมต่อไปซึ่งนานเท่าไรนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม

วิจารณ์

สถานภาพของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม เช่น ระดับการศึกษา ประสบการณ์ การฝึกอบรม อาหารและการให้อาหาร วิธีการรีดนม และการจดบันทึกข้อมูล เป็นต้น ที่พบในการศึกษาครั้งนี้ มีค่าใกล้เคียงกับค่ารายงานโดยงานวิจัยหลายฉบับ (เช่น กรองแก้ว, 2539; ณัฐพงศ์, 2544; Rhone et al.,2007 เป็นต้น) จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าเกษตรกรที่อยู่ต่างภูมิภาคกันนั้นส่วนใหญ่มีความแตกต่างกันในเรื่องของประสบการณ์ (พิจารณาตามจำนวนปีที่เลี้ยงโคนมนับตั้งแต่เริ่มต้น) และจำนวนแม่โครีดนมที่เกษตรกรเลี้ยงดูอยู่ในฟาร์ม ส่วนการจัดการฟาร์ม (เช่น การให้อาหารข้นและอาหารหยาบ การคัดเลือก การผสมพันธุ์ และการรีดนม เป็นต้น) และ

ปัญหาที่เกษตรกรประสบโดยทั่วไปนั้นมีลักษณะไม่แตกต่างกัน (P > 0.05) อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงความสามารถในการผลิต (9 ถึง 12 กก/ตัว/วัน) ลักษณะการบริหารจัดการฟาร์มและปัญหาในการผลิตโคนมที่เกษตรกรประสบในภาพรวมจะเห็นได้ว่า “ประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารจัดการฟาร์มโคนมของเกษตรกรในประเทศไทยนั้น ยังคงจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง” ทั้งนี้เพื่อให้ต้นทุนการผลิตลดลงและเพิ่มโอกาสในการได้มาซึ่งผลกำไรที่มากเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจการเลี้ยงโคนม ภายใต้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีความผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลดังกล่าว งานวิจัยและพัฒนาที่มุ่งแก้ไขปัญหาการผลิตโคนมในปัจจุบันยังคงจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุน เช่นเดียวกับการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีร่วมสมัยสำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

ผลการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ สอดคล้องกับรายงานของชาญชัย (2530) และ Rhone et al. (2007) ที่พบว่า “เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมส่วนใหญ่ขาดโอกาสในการเลือกใช้น้ำเชื้อพ่อพันธุ์โคนม” และในเชิงปฏิบัติ “การคัดเลือกน้ำเชื้อพ่อพันธุ์โคนมที่ใช้ในฟาร์มของเกษตรกรส่วนใหญ่กระทำโดยผู้อื่นที่ไม่ใช่เกษตรกร” ผลการศึกษายังชี้ให้เห็นว่า “เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมส่วนใหญ่ขาดความรู้และความเข้าใจในการถ่ายทอดทางพันธุกรรมและการคัดเลือกพ่อพันธุ์โคนม” ซึ่งปัญหาดังกล่าว (เกษตรกรขาดโอกาสและความรู้) อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้การคัดเลือกพ่อพันธุ์โคนมที่นำมาใช้ในการผสมพันธุ์กับแม่โคของเกษตรกรเพื่อการเพิ่มผลผลิตน้ำนมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไม่สัมฤทธิ์ผล และส่งผลให้แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงความสามารถทางพันธุกรรมสำหรับปริมาณน้ำนมรวมที่ 305 วัน ของแม่โครีดนม (สำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์, 2550, องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย, 2550) และพ่อพันธุ์โคนม (พ่อของแม่โครีดนม; Koonawootrittriron et al., 2008) ที่เกษตรกรนำมาใช้ประโยชน์ในฟาร์มของตนในแต่ละปีนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีค่าต่ำ ซึ่งหากปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม เกษตรกรจะมีต้นทุนการผลิตน้ำนมสูงขึ้นกว่าความจำเป็นอันเนื่องมาจากโคนมที่ตนเองใช้ในระบบการผลิตนั้นมีประสิทธิภาพในการผลิตต่ำ หรือไม่สามารถเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ที่เกษตรกรจัดการให้ไปเป็นผลผลิตได้อย่างคุ้มค่าต่อการลงทุน

ลักษณะเช่นนี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นใน“การพัฒนาความรู้และความเข้าใจในการพิจารณาคัดเลือกพ่อพันธุ์โคนม” ควบคู่ไปกับ “การจดบันทึกพันธุ์ประวัติและสมรรถภาพการแสดงออกของลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจ (เช่น การให้ผลผลิตน้ำนม คุณภาพน้ำนม ประสิทธิภาพการสืบพันธุ์ และรูปร่าง เป็นต้น)” ให้กับเกษตรกรเพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ ทั้งในด้านการปรับปรุงการจัดการฟาร์มและการปรับปรุงศักยภาพทางพันธุกรรม ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีโอกาสได้โคนมทดแทนรุ่นลูกในอนาคตที่มีสมรรถภาพในการแสดงออกสำหรับลักษณะต่างๆ ดังกล่าวดีกว่าโคนมในรุ่นปัจจุบัน (รุ่นพ่อแม่) นอกจากนี้ เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ “บุคคลที่เป็นผู้คัดเลือกน้ำเชื้อพ่อพันธุ์โคนมในเชิงปฏิบัติ สำหรับการผสมพันธุ์ให้กับโคนมเพศเมียแต่ละตัวของเกษตรกร อาจจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการคัดเลือกและจับคู่ผสมพันธุ์โคนม เพื่อใช้ประโยชน์ในสภาพแวดล้อมและการจัดการฟาร์มของเกษตรกรแต่ละรายในประเทศไทย” เช่นกัน

สรุป

เกษตรกรที่อยู่ภูมิภาคแตกต่างกันมีประสบการณ์และจำนวนโครีดนมแตกต่างกัน ยกเว้น ปริมาณน้ำนมดิบต่อแม่โคหนึ่งตัว เกษตรกรส่วนใหญ่ของทุกภูมิภาคจบการศึกษาในระดับประถมศึกษา มีแนวทางการปฏิบัติและปัญหาในการจัดการฟาร์มเหมือนกัน แต่อย่างไรก็ตาม เกษตรกรส่วนใหญ่ขาดโอกาส ความรู้ และความเข้าใจในการพิจารณาคัดเลือกพ่อพันธุ์โคนม ไม่พอใจกับราคาน้ำนมที่ได้รับ แต่ก็ยังคงคิดว่าจะประกอบอาชีพการผลิตโคนมต่อไป