ที่มา: วารสารโคนม ปีที่ 17 ฉบับที่ 1

ผู้แต่ง: น.สพ.กฤช พจนอารี

เป้าหมายการปรับปรุงพันธุ์โคนมของบางประเทศ มีการกำหนดเรื่องน้ำหนักตัวของโคไว้ด้วย เช่น ของไทยกำหนดว่า แม่โคโตเต็มที่ควรมีน้ำหนักประมาณ 420 กิโลกรัม ขณะที่ของเยอรมันกำหนดไว้ที่ 750 กิโลกรัม แถมยังระบุความสูงไว้ที่ 148 ซม.ด้วย ในขณะที่อีกหลายประเทศไม่สนใจเรื่องน้ำหนักหรือขนาดของตัวโคเลย ทำไม?

น้ำหนักตัวมากจะให้นมมากจริงหรือ?

ใครๆก็ชอบโคที่โตเร็วกันทั้งนั้นโตเร็วก็ผสมพันธุ์ได้เร็วตั้งท้องเร็วแล้วก็เริ่มรีดนมได้เร็ว เพราะฉะนั้นเรื่องอัตราการเจริญเติบโตเลยไม่มีข้อที่จะต้องสงสัยอะไรแต่เรื่องขนาดของตัวนี่ซิที่ยังไม่เคยมีการพูดถึงกันอย่างจริงจังเลยว่าตัวโตขนาดไหนน้ำหนักเท่าไรถึงจะดีที่สุดตัวใหญ่กว่าดีกว่าจริงหรือเปล่าผลจากการปรับปรุงพันธุ์ที่ผ่านมาหลายปีนี้ ทำให้โคในปัจจุบันตัวโตกว่าแต่ก่อนมาก ตัวโตขึ้นแล้วจะให้นมได้มากขึ้นจริงหรือเปล่า บางทีอาจจะไม่ก็ได้ ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมากับผลผลิตน้ำนม แสดงให้เห็นว่าทั้ง 2 เรื่องนี้แทบไม่มีความสัมพันธ์กันเลยจะมีบ้างที่มีความสัมพันธ์กันว่าวัวตัวเล็กกว่าให้นมน้อยกว่าก็เฉพาะในกรณีของโคที่แคระเกร็นและไม่เจริญเติบโตตามปกติเท่านั้น เช่น เคยผ่านช่วงการอดอาหารมาแต่ในฝูงวัวที่สุขภาพสมบูรณ์ดีไม่มีผลแตกต่างกันระหว่างโคตัวเล็กกับตัวใหญ่

แล้วถ้าจะเทียบขนาดตัวกับการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม รวมถึงการมีชีวิตรอดล่ะ เรื่องนี้มีรายงานชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นงานทดลองที่ทำในปี พ.ศ.2535 (ค.ศ.1992) โดยศึกษาข้อมูลจากลูกสาวของโคพ่อพันธุ์จำนวน 53,830 ตัว จากจำนวนพ่อพันธุ์ทั้งหมด 617 ตัว ผลการศึกษาชี้ชัดว่า 2เรื่องนี้ไม่มีความสัมพันธ์กันฉะนั้นจึงยืนยันได้ชัดเจนว่าโคตัวใหญ่กว่าไม่ใช่จะแข็งแรงกว่าทนทานกว่าแต่อย่างใด

พอดูไปที่ลักษณะรูปร่างกับการคัดเลือกของเกษตรกรก็พบว่า ในอเมริกาเองมีลักษณะแค่ 4 อย่างเท่านั้นที่มีผลต่อการตัดสินใจคัดเลือกโคเก็บไว้ในฟาร์มหรือคัดออกไปจากฟาร์มนั่นคือ

1) ความลึกของเต้านม สัมพันธ์โดยตรงกับปริมาตรความจุของเต้านม (พวกเต้านมตื้นๆ จะถูกส่งไปเข้าโรงฆ่าสัตว์)

2) การวางตัวของหัวนม ซึ่งสำคัญมากโดยเฉพาะกับการรีดนมโดยใช้เครื่องรีดนม (ถ้าหัวนมอยู่ชิดกันเกินไปจะถูกไล่ให้ไปเกิดใหม่)

3) ความสั้น-ยาว ของลำตัว พวกตัวยาวจะมีพื้นที่สำหรับอวัยวะภายในมากกว่าพวกตัวสั้น (พวกตัวยาวๆ จะถูกเลือกเก็บไว้ให้พวกตัวสั้นๆ ไปถูกแปรรูปเป็นแฮมเบอร์เกอร์ หรือสเต็ก)

4) ความลึกของลำตัว ลำตัวลึกหมายถึง มีความจุช่องอกมาก ปอดใหญ่ ช่องท้องก็มักจะใหญ่ตามไปตาม (ถ้าลำตัวตื้นๆ ก็อายุสั้น ลำตัวเล็ก ความจุมาก ก็อายุยืน)

นั่นเป็นเกณฑ์ที่ใช้คัดเลือกในช่วงต้นของอายุโคเท่านั้น คือ จากแรกเกิดถึงอายุ 5 ปี ถ้าอยู่ถึง 5 ปี แล้วเกณฑ์การคัดจะลดลงมาเหลือแค่ 2 อย่างเท่านั้นที่จะถูกพิจารณาเป็นพิเศษนั่นก็คือ ความลึกของเต้านม กับการวางตัวของหัวนมทั้ง 4 มหาวิทยาลัยมินิโซต้า ของอเมริกา ได้เคยเปรียบเทียบฝูงโคเพศเมีย 2 ฝูง ที่มีพันธุกรรมเกี่ยวกับขนาดตัวแตกต่างกัน คือ กลุ่มหนึ่ง มีพันธุกรรมและสายพันธุ์เป็นโคที่ตัวโตกับอีกกลุ่มหนึ่ง มีพันธุกรรมและสายพันธุ์เป็นโคที่ตัวเล็ก แต่ในความเป็นจริง โคที่มีพันธุกรรมและสายพันธุ์โคตัวโต บางตัวก็ตัวเล็กกว่าโคที่มีพันธุกรรมและสายพันธุ์เป็นโคตัวเล็ก ขณะเดียวกันก็มีโคที่มีพันธุกรรมของโคตัวเล็กบางตัว ตัวใหญ่กว่าโคที่มีพันธุกรรมของโคตัวใหญ่ แต่เป็นการจัดแบ่งฝูงตามพันธุกรรมและสายพันธุ์จากพ่อและแม่ ไม่ได้ดูจากตัวจริงของโค ในแง่ของค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพ พบว่า ไม่มีความแตกต่างกันเลยในเรื่องค่าดูแลสุขภาพ เว้นแต่ว่า โคตัวใหญ่มีอัตราการเป็นโรคกระเพาะอาหารที่ 4 เคลื่อนไปอยู่ผิดที่ (หรือที่เรียกกันว่ากระเพราะพลิก) มากกว่าโคตัวเล็กอย่างเห็นได้ชัดส่วนด้านผลผลิตไม่มีความแตกต่างกันเลยสักนิดแต่ที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ ปริมาณของอาหารที่กินเข้าไปในแต่ละวันนั้นโคตัวใหญ่จะกินมากกว่าโคตัวเล็ก เพราะฉะนั้นถ้าจะเปรียบเทียบกันจริงๆแล้วโคตัวเล็กจะให้ความคุ้มค่ามากกว่าเพราะกินน้อยกว่าโคตัวใหญ่แต่ให้นมเท่ากัน และเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการศึกษาครั้งนี้ลองแบ่งกลุ่มใหม่อีกครั้ง คราวนี้แบ่งตามตัวจริงของโคที่ทองเห็น (ไม่สนใจสายพันธุ์และพันธุกรรม) โดยใช้วิธีชั่งน้ำหนักแล้วแบ่งกลุ่มออกเป็น 3 กลุ่ม โคขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ หลังจากทำการเปรียบเทียบรายได้หลังหักค่าอาหารแล้ว ปรากฏว่า โคขนาดเล็กให้ผลกำไร 5,118 เหรียญสหรัฐฯ โคขนาดกลางให้ผลกำไร 5,110 เหรียญสหรัฐฯ และโคขนาดใหญ่ให้ผลกำไรเพียง 5,041เหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น

ถึงตรงนี้จะขอถามสักนิดว่า ใครชอบวัวตัวใหญ่บ้างให้ยกมือขึ้น ไม่ทราบจะมีใครยกมือรึเปล่า ก็คงจะยังมีอยู่เพราะจริงๆ ข้อดีของการมีโคตัวใหญ่ก็ยังมีอยู่มาก เช่น มองเห็นตัวโคได้เด่นชัดแต่ไกล เวลาขายตามน้ำหนักตัวก็ได้ราคาดีกว่า บางคนก็บอกว่านั่งรีดนมง่ายดี สะดวกไม่ต้องก้มเพราะเต้านมอยู่ระดับหน้าอกคนรีดพอดี ของอย่างนี้ลางเนื้อชอบลางยานะครับ อ่านแล้วพิจารณาตัดสินใจเอาเอง แต่ผมน่ะเชียร์วัวตัวเล็กมานานแล้วครับ เพราะผมก็ตัวเล็กเหมือนกัน และไม่ค่อยชอบโคตัวใหญ่ซักเท่าไหร่ ลองนึกถึงภาพหมอต้องปีนเก้าอี้ล้วงก้นวัวดูซิครับ ดูไม่เท่ห์เลยสักนิด ฝากเรื่องนี้ไว้คิดกันด้วยนะครับ ว่าเราจะปรับปรุงพันธุ์โคนมของเราให้ไปในแนวไหนมีเป้าหมายกันหรือยัง อย่าลืมว่า วางแผนดีมีชัยไปกว่าครึ่ง