ที่มา: วารสารโคนม ปีที่ 17 ฉบับที่ 3

ผู้แต่ง: หมอนิรนาม

เป็นเรื่องที่พบเห็นกันได้ โดยทั่วไปว่า พนักงานผสมเทียมบางคนทำงานแบบชุ่ยๆ สักแต่ว่าทำให้เสร็จๆ พ้นตัวไป แต่ตัวก็ยังตั้งท้องได้ ก็เลยเกิดความเชื่อแบบผิดๆ ว่าทำยังไงก็ได้ เดี๋ยวก็ท้องจนได้แหละน่า สาเหตุที่ทำให้ความเชื่อแบบผิดๆ นี่ เกิดขึ้นได้ก็เพราะสาเหตุ สำคัญ 2 ประการ คือ

1) ในหลอดน้ำเชื้อแต่ละหลอดจะบรรจุตัวอสุจิอยู่ 10 ถึง 20 ล้านตัวขึ้นไป เพราะฉะนั้น เมื่อมีการกระทบกระเทือนจากการปฏิบัติแบบไม่ระมัดระวัง ก็จะมีตัวอสุจิบางส่วนตายไป แต่ก็ยังพอมีเหลืออยู่บ้าง แล้วพวกที่ยังเหลือนี้ก็ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดี จนทำให้วัวตั้งท้องได้สำเร็จ อ้าว! แล้วทำไมต้องทำดีๆ ด้วยละ ในเมื่อแบบนี้ก็ท้อง เพราะท้องแบบนี้มีข้อด้อยอยู่นะซีครับ ข้อแรก เป็นการลดโอกาสการคัดเลือกตัวอสุจิที่ดีที่สุดจากที่ควรจะได้คัดเลือก 1 ตัว จาก 20 ล้านตัว ก็กลายเป็นคัดเลือก 1 ตัว จาก 1ถึง 2 ล้านตัวเท่านั้น ข้อสอง ตัวอสุจิที่ตายไป อาจเป็นตัวอสุจิที่ดีที่สุดก็ได้ ตัวที่รอดอาจเป็นตัวระดับปานกลาง ถึงระดับท้ายๆ ไม่มีใครรู้ ข้อสาม ตัวอสุจิที่เหลือรอดอยู่ก็อยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ ไม่สมบูรณ์เต็มที่ถึงจะผสมกับไข่จนตั้งท้องได้ แต่ผลที่ตามมาก็ไม่ดีนัก

2) พนักงานผสมเทียมไม่ตรวจท้องตามที่ควรตรวจเมื่อครบกำหนด จึงไม่รู้อัตราการผสมติดที่แท้จริงของตัวเอง เช่น ผสมไป 100 ครั้ง แล้วผสมติด 10 ครั้ง ซึ่งก็คือ อัตราผสมติดแค่ 10% แต่พอไม่ตรวจท้องก็ไม่รู้ว่าฝีมือตัวเอง ตกต่ำถึงขนาดนี้ แต่พอวัวท้องจนคลอด ก็รู้ว่ามีท้อง มีคลอดจากฝีมือตัวเอง แต่รู้แค่ไม่กี่ตัว ก็คิดว่าคงท้องเยอะ ดังนั้น ถ้ามีการตรวจท้องหลังผสม 2 เดือน ทุกคนจะรู้สภาพของตัวเองว่าฝีมืออยู่ในระดับไหน ก็จะทำการแก้ไข ปรับปรุงตัวเองได้ ไม่ก่อให้เกิดปัญหาระยะยาว ทั้งกับเกษตรกรและกับตัวเอง พูดมาถึงเรื่องนี้แล้วขอต่อไปอีกหน่อยว่าจริงๆ ตัวเกษตรกรเอง ก็มีส่วนต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้เหมือนกัน เพราะประวัติการผสมเกษตรกรทุกคนต้องมีอยู่แล้วที่ฟาร์ม ในการ์ดผสมเทียม เวลาพนักงานผสมเทียมเขาผสมโคให้เสร็จ เขาก็จะเขียนลงการ์ดไว้ให้ ตัวเกษตรกรเองก็ควรจะดูและนับวันต่อไปเลยว่าโคตัวนี้จะเป็นสัดรอบหน้าเมื่อไหร่ ถ้าไม่เป็นสัดรอบหน้าก็นับต่อเผื่อไปอีกรอบ ถ้าผ่านรอบอีกก็เดาว่าท้อง แต่ก็ห้ามแน่ใจ ควรแจ้งให้มีการตรวจท้องหลังผสม 2 เดือน เพื่อให้แน่ใจว่าท้องจริง ไม่ได้ถูกโคหลอกเอา เพราะเคยเจอหลายฟาร์มที่ไม่เป็นสัดหลังผสม ก็โมเมว่าท้อง ก็ชัดแจงดรายโคตอนท้อง 7 เดือน รอจนถึงครบกำหนดคลอดโคก็ไม่คลอด มาแจ้งตรวจทีหลัง เจอว่าไม่ท้อง เสียเวลาไปฟรีๆ 9 เดือน ซึ่งลักษณะแบบนี้มีสาเหตุได้หลายประการ เช่น โคเป็นสัดเงียบ ใจเจ้าของน่ะอยากจะให้โคท้องอยู่แล้ว ก็เลยหลงทางเอาง่ายๆ เพราะไม่ได้จ้องจะจับสัดจริงๆ จังๆ หรืออาจเกิดจากความผิดปกติที่รังไข่ เช่น การเกิดถุงน้ำที่รังไข่ การมี CL (ก้อนเนื้อเหลือง) ค้างบนรังไข่ ฯลฯ โคเลยไม่แสดงอาการเป็นสัดออกมา

แต่! อะไรบ้างล่ะที่เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะทำ หรือเป็นเรื่องทำแบบชุ่ยๆ ที่ว่า ลองยกตัวอย่างดูซัก 3 ถึง 4 อย่างก็แล้วกัน

1) พอไปถึงฟาร์มที่แจ้งผสม ก็จัดแจงเตรียมถุงมือ หลอดหยิบน้ำเชื้อใส่กระติกน้ำเลย ยังไม่ได้ล้วงตรวจเลยว่าโคตัวนั้นเป็นสัดดีไหม เมือกใสเหนียวดีไหม ระยะเวลาเหม าะสมหรือไม่ พอเตรียมน้ำเชื้อแล้วยังไงก็ต้องผสมถูกไหมครับ ถ้าโคตัวนั้นเป็นสัดไม่ดี หรือเมือกปนหนองก็เสียน้ำเชื้อฟรีไป 1 หลอด ผสมไม่ติด

2) ไม่มีการซักประวัติแม่โคตัวที่ผสมเลยว่าเป็นลูกใคร หลานใคร เหมาะสมที่จะผสมกับน้ำเชื้ออะไร เพราะตามหลักจะต้องระวังการผสมแบบเลือดชิด เช่น พ่อของแม่พันธุ์กับพ่อของพ่อพันธุ์ ควรมาจากต่างสายกัน

3) ไม่เคยสนใจเลยว่า น้ำเชื้อพ่อพันธุ์ตัวไหนเด่น ดี ในเรื่องไหน แล้วก็ไม่เคยตรวจดูแม่โคตัวที่ผสมเลยว่า ด้อยในเรื่องไหน ควรใช้น้ำเชื้อพ่อพันธุ์ตัวไหนเข้าไปช่วยปรับปรุงส่วนที่ด้อยของแม่โคตัวนั้นเพื่อรุ่นลูกออกมาจะได้ดีกว่าเดิม

4) ไม่มีน้ำเชื้อให้เลือกใช้เลย เบิกไปแค่ 2 ตัว เช่น เลือดร้อย 1 ตัว ลูกผสม 1 ตัว หรืออย่างดีก็เพิ่มเชื้อนอกอีก 1 ตัว เกษตรกรก็เลยไม่มีทางเลือก ต้องเลือกเอาอะไรก็ได้ที่อยู่ในถังนั้นใช้ผสม

จริงๆ ยังมีอีกหลายอย่างที่ทุกคนก็รู้อยู่แก่ใจว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะไม่ควร แต่ก็อย่างที่กล่าวนำไว้แหละครับว่า ก็เห็นว่าทำแบบนี้ก็ท้อง แล้วทำไมต้องทำดีๆ ด้วย เพราะการทำดีใครๆ ก็รู้ว่าทำยาก ทำแล้วทำลำบากกว่าทำชุ่ยๆ แต่ผลที่ตามมาของการทำดีๆ นั้น ย่อมหอมหวาน น่าชื่นชม ซึ่งไม่น่าจะเปรียบเทียบกันได้กับความสบายเล็กๆ น้อยๆ ที่ได้มาจากการทำอะไรง่ายๆ แบบพอให้พ้นตัวไปวันๆ เอาล่ะ เดี๋ยวจะหาว่าติดอย่างเดียว ไม่มีอะไรแนะนำเลยก็จะขอพูดถึงการทำงานแบบดีๆ ซัก 5 ถึง 6 อย่าง เผื่อใครต้องการจะนำไปใช้ ส่วนคนที่ทำอยู่แล้วก็อ่านเพื่อย้ำเตือนความถูกต้องของตัวเองไปพลางๆ

1) การรักษาความสะอาด ของอุปกรณ์ทุกชิ้น และขั้นตอนทุกขั้น ตั้งแต่ชีทหุ้มปืนผสมเทียม ห้ามใช้มือจับส่วนปลายของชีท เพราะเชื้อโรคในมือเราจะติดเข้าไปในมดลูกโคด้วยเวลาเปิดช่องคลอดเพื่อสอดปืนผสมเทียมเข้าไปในมดลูกต้องดูให้สะอาด ให้แน่ใจว่าไม่มีขี้วัวติดปลายปืนเข้าไปด้วย

2) สอบประวัติ ให้แน่ใจว่าไม่ได้เอาน้ำเชื้อของญาติสนิทไปผสมให้กับแม่โค แต่เลือกเอาน้ำเชื้อที่เหมาะสมกับแม่โคตัวนั้น ไปผสมให้

3) ตรวจสภาพการเป็นสัด ให้แน่ใจก่อนผสม ว่ามดลูกอยู่ในสภาพที่ดี ไม่มีหนอง ไม่มีการอักเสบ และเป็นช่วงที่เหมาะสมกับการผสมจริงๆ ไม่ใช่เร็วไป ช้าไป

4) ตรวจอุณหภูมิของน้ำอุ่น ที่ใช้ละลายน้ำเชื้อให้ดีอย่าให้น้ำเย็นจนเกินไป เชื้อจะตายหมดก่อนได้ผสม

5) วางปลายปืนผสมเทียมในตำแหน่งที่ถูกต้องเหมาะสม ไม่ต้องรีบทำบางคนกลัวเกษตรกรจะหาว่าไม่เก่งถ้าล้วงนานเลยรีบล้วงรีบสอดปืนผสมเทียม บางทียังเข้าไปไม่ถึงไหนเลยรีบเดินน้ำเชื้อซะแล้วช้าๆได้พร้าเล่มงามนะครับ

6) คุยกับเจ้าของโคบ้าง บอกความจริงให้เขาฟังบ้างว่าโคของเขาสภาพเป็นอย่างไรจะผสมติดยากหรือง่ายมีปัญหาอะไรในมดลูกบ้างหรือเปล่า เราเลือกใช้เชื้ออะไร เพราะอะไรอย่าอมพะนำทำเฉยๆ

การเป็นพนักงานผสมเทียมเป็นไม่ยากหรอกครับ แต่การเป็นพนักงานผสมเทียมที่ดีนะไม่ง่ายเลย เพราะขั้นแรก ก็ต้องมีจิตสำนึกอยู่เสมอว่า พนักงานผสมเทียมที่ดีไม่ใช่แค่ทำให้โคตั้งท้องเท่านั้น ยังต้องรับผิดชอบต่อลูกโคที่กำลังจะเกิดขึ้นมา เป็นอนาคตของฟาร์มด้วย เพราะเกษตรกรเขาก็หวังว่า รุ่นลูกจะต้องดีกว่ารุ่นแม่ ถ้าออกมาแล้วแย่กว่าแม่ใครจะแก้ตัวยังไงกันบ้าง